วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

การดูแลกระต่ายหลังคลอดจากผู้มีประสบการณ์

การดูแลกระต่ายหลังคลอดและการบริบาลลูกกระต่าย
          จากบทความชุด นางสาวกระต่ายจะมีสามี เมื่อมีสามี ก็จะต้องมีท้องแล้วก็คลอด บทความนี้จึงต้องตามมาคือการดูแลกระต่ายหลังคลอดและการเลี้ยงดูลูกกระต่ายให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ


          ตามหลักการแล้ว กระต่ายจะมีช่วงตั้งท้อง 30 วัน (ฝรั่งหลายรายบอกว่า 31 วัน) จะขาดจะเกิน ในช่วง +/- 2วัน และตามสถิติเขาว่ากันว่า ลูกกระต่ายในกลุ่มกระต่ายแคระเช่น HL และ ND นี้ครอกหนึ่ง จะมีประมาณ 4 ตัว

          เมื่อครบกำหนดคลอด แม่กระต่ายจะกัดและกินรกรวมทั้งถุงที่หุ้มตัวลูก และเลียตัวให้ลูก ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำความสะอาดและกำจัดกลิ่น เพราะเป็นสัญชาติญาณที่ต้องทำ เพื่อมิให้สัตว์นักล่าทั้งหลายได้กลิ่น รวมทั้งป้องกันมิให้มดและแมลงเข้ามากวนแล้ว การเลียตัวให้ลูกนั้นเหมือนการนวดเบา ๆ จะเป็นการกระตุ้นให้ลูกกระต่ายเคลื่อนไหว และทำให้ลูกกระต่ายคุ้นเคยกับกลิ่นของแม่  ส่วนรกที่แม่กระต่ายกินเข้าไปก็เป็นการคืนโปรทีนส่วนหนึ่งให้กับตัวเองด้วย
เรื่องเศร้าของกระต่ายพันธุ์แคระ
 

          เป็นเรื่องเกือบปกติที่กระต่ายในกลุ่มกระต่ายแคระ เช่น  Holland Lop (HL) และ Netherland Dwarf (ND) จะสูญเสียลูกครอกแรกทั้งหมดหรือบางส่วน โอกาสในการสูญเสียของคุณแม่ท้องสาว มีอัตรา ประมาณครึ่งต่อครึ่ง การออกลูกมาแล้วตาย(ทันที) ทั้งหมด อาจเกิดได้ติดต่อกัน 1-3 ครอก

          เรื่องนี้ ฝรั่งผู้เชี่ยงชาญการผสมพันธุ์กระต่ายให้เหตุผลว่า เนื่องจากกระดูกเชิงกรานของแม่กระต่ายยังไม่ขยายตัวเต็มที่ในการคลอดครั้งแรก ๆ เมื่อลูกกระต่าย (โดยเฉพาะลูกกระต่ายที่ตัวใหญ่) ต้องถูก “รีด” ผ่านช่องเล็ก ๆ ออกมา จึงมีโอกาสรอดยาก เมื่อผ่านการคลอดครั้งแรก หรือครั้งแรก ๆ ไปแล้ว โครงสร้างของร่างกายแม่กระต่ายจะปรับเปลี่ยน ทำให้ลูกครอกต่อ ๆ มามีโอกาสรอดมากขึ้น

ภาพ X-Ray ของเอมิลี่ (ซ้าย)และ ปราด้า (ขวา)

          มีแม่กระต่ายของเราอยู่ 2 ตัว ที่ให้ลูกครอกละ 4 ตัว .....แต่ตายทั้งหมด!

         ส่วนลูกที่คลอดออกมาแล้วไม่ตาย ก็อาจตายได้จากภาวะแวดล้อม เช่นหนาวเกินไป แม่ไม่เลี้ยง พิการ และ....เป็นกระต่าย ที่เรียกว่า Peanut

กระต่ายที่เป็น Peanut เป็นอย่างไร          
            Peanut ที่แปลว่าถั่ว(ลิสง) นี่ ฝรั่งเขาใช้เรียกลูกกระต่ายที่บกพร่องทางพันธุกรรม ซึ่งเกิดมาเพื่อรอวันตายเท่านั้น
          ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดกระต่าย ที่เป็น Peanut นั้น ขออธิบายดังนี้

          กระต่ายทุกตัวที่เกิดมา ย่อมได้ยีนส์แสดงลักษณะต่าง ๆ จากพ่อและแม่มาอย่างละ 1 ประมาณว่า พ่อและแม่กระต่าย จะทำการจับสลากเลือกยีนส์ของตัวเองมาเข้าคู่กัน ทั้งยีนส์ที่กำหนดสี กำหนดเพศ กำหนดโน่นกำหนดนี่ รวมถึงยีนส์คู่ที่จะพูดถึงนี่ คือ ยีนส์ที่กำหนดขนาดของลูก

          ในกระต่ายขนาดเล็กพวก HL-ND จะมียีนส์คู่หนึ่ง ที่กำหนดขนาดของร่างกาย เรียกว่า ยีนส์แคระ (Dwarf Gene) เขียนย่อ ๆ ในรหัสพันธุกรรมว่า  dw  ซึ่งหมายถึงว่า แคระ และ Dw ซึ่งหมายถึงว่า ไม่แคระ

          ถ้ายีนส์ที่ได้จากคุณพ่อ เป็นยีนส์ไม่แคระ (Dw) และคุณแม่ก็ให้ Dw มาอีกตัวหนึ่ง รวมกันเป็นลูกที่มียีนส์ Dw+Dw ลูกตัวนั้นจะไม่แคระ คือตัวใหญ่กว่ามาตรฐานอุ้มแล้วเต็มไม้เต็มมือดี แต่คงส่งประกวดไม่ได้เพราะน้ำหนักมักจะเกินกำหนด ซึ่งมาตรฐานที่ ทาง ARBA ยอมรับให้ลงทะเบียน (Register) และส่งประกวด (Show) ได้คือประมาณไม่เกิน 1.7-1.8 กิโลกรัม ครับ

          แต่ถ้าลูกตัวใด ได้รับยีนส์ที่ได้จากจากพ่อและแม่ เป็นยีนส์ไม่แคระ (Dw) ตัวหนึ่งกับยีนส์แคระ (dw) ตัวหนึ่ง มา จับคู่กันเป็น Dw+dw คือมียีนส์ไม่แคระ 1 ตัว มารวมกับยีนส์แคระ 1 ตัว ลูกที่ได้ก็จะเป็นกระต่าย ที่ตัวเล็กตามมาตรฐานสายพันธุ์

          เรื่องเศร้าก็คือ ถ้าลูกตัวไหน ได้ยีนส์แคระ (dw) ทั้งจากพ่อและแม่ มา 2 ตัวคือ คือเป็น dw+dw แทนที่จะได้กระต่ายจิ๋ว ก็กลับกลายเป็นกระต่ายพิการทางพันธุกรรม คือเป็น Peanut แบบนี้ไม่มีทางที่จะรอดเลย และโดยเฉลี่ยจะอยู่ดูโลกได้ไม่เกิน 7 วัน

สรุปก็คือ  ยีนส์ไม่แคระ+ยีนส์ไม่แคระ = กระต่ายใหญ่ (กว่ามาตรฐาน)
                ยีนส์ไม่แคระ + ยีนส์แคระ = กระต่ายเล็ก (ตรงตามมาตรฐาน)
                ยีนส์แคระ+ยีนส์แคระ = Peanut


Peanut นี่ เราเจอแล้วตัวหนึ่งครับ
          ลักษณะของกระต่ายที่เป็น Peanut คือเมื่อคลอดออกมา ตัวจะเล็กมากเมื่อเทียบกับพี่น้อง แบบว่าครึ่งต่อครึ่งเลย เห็นได้ชัดมาก หัว(กระโหลก)โต หูสั้น ขาเล็กและสั้นทั้งขาหน้าขาหลัง มองเผิน ๆ รูปร่างเหมือนฝักถั่วลิสง ชนิดที่มีเมล็ด 2 เมล็ด ไม่มีเรี่ยวแรง หนังเหี่ยว ไม่ค่อยกระดุกกระดิกเหมือนตัวอื่น ไม่ว่าจะช่วยป้อนนม กกให้อุ่นหรือดูแลสารพัดเพียงใดเขาก็ตายครับ เพราะเขาจะไม่มีการพัฒนาเนื้อเยื่อ (Tissue) ในร่างกายเลย เรื่องนี้ต้องทำใจ ไม่มีใครอยากพบเจอ แต่...มันเป็นธรรมชาติของเค้า เราก็ได้แต่เม้มปาก ถอนใจ ในขณะที่ขอบตาร้อน ๆ และบอกลา....


          การสูญเสียอีกแบบหนึ่ง คือการที่ลูกตายในท้อง เป็นเรื่องที่แม้แต่คุณหมอเองก็ไม่อยากเจอ เพราะต้องผ่าออก และแน่นอนว่า แม่กระต่ายตัวนั้นจะไม่สามารถมีลูกได้อีก

           เรายังไม่เคยเจอกรณีนี้ มีแต่เฉียด ๆ คือ กรณีของเอมิลี่ ซึ่งถึงกำหนดควรจะคลอดแล้วแต่ยังไม่คลอด เมื่อคุณหมอ เอ็กซ์เรย์ดูแล้ว พบว่ามีลูกในท้อง 4 ตัว คุณหมอถึงกับเปรยว่า อย่าตายในท้องนะ.... ว่าแล้วเอมิลี่ก็ต้องถูกโกนขนหน้าท้อง แล้วพาไปทำอัลตร้าซาวนด์

  
เอมิลี่ กำลังได้รับการตรวจภายในด้วย Ultrasound
ตรงที่คุณหมอชี้ในจอภาพ คือหัวใจของเด็กน้อยที่กำลังเต้น


          ภาพจากการทำอัลตร้าซาวนด์ ทั้งเราและคุณหมอดีใจกันมาก เพราะหัวใจน้อยๆ ทั้ง 4 ดวง เต้นรัว เห็นในจอชัดมาก คุณหมอถึงกับถอนหายใจดัง ๆ และบอกว่าสบายใจได้ ไม่มีตายในท้องแน่นอน กลับไปรอการคลอดได้เลย

          แต่คุณหมอคงยังไม่ทราบว่า ลูกทั้งสี่ของเอมิลี่ ถึงจะคลอดออกมามีรูปร่างปกติ แต่การที่โครงร่างของแม่กระต่ายในท้องแรก ๆ ยังไม่ปรับตัว ลูกที่คลอดออกมาก็...ไม่รอด หนูน้อยทั้งสี่..กลับไปดวงจันทร์แล้ว.....
นี่ก็เป็นอีกเศร้าอีกเรื่องหนึ่ง ที่เราขอเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังอย่างไม่ปิดบัง ใครก็ตามที่ต้องเผชิญกับเรื่องแบบนี้ จะได้ทำใจได้ครับ


          เด็ก ๆ ชุดแรกจาก 6 แม่ จำนวนรวม 20 ตัว จากพรากไป 12 รอดมา 8 .... สิ่งเดียวที่เราทำได้ คือเก็บความปวดแปลบไว้ลึกๆ ในใจ  แล้วหันมาชื่นชมและชื่นใจกับอีก 8 ชีวิตที่แสนจะน่ารัก และจะทุ่มเทความเอาใจใส่เลี้ยงดูเขาให้มีความสุขที่สุดเท่าที่จะทำได้

           อยากบอกพวกเราทุกคนว่า สิ่งที่มีชีวิตที่น่ารักที่สุดในโลก คือลูกกระต่ายน้อยๆ ที่วิ่งหยอยๆ อยู่ตรงหน้า

ขออภัยที่เพ้อเจ้อ.....มาคุยกันต่อครับ


ความบกพร่องของเรา ก็อาจทำให้ลูกกระต่ายตายได้
 

          กรณีที่คลอดออกมารอดเป็นปกติดี แต่....ตายเพราะความสะเพร่าของเราและแม่กระต่ายก็มีครับ...จะเล่าให้ฟังอย่างไม่อาย

          คาร์เทีย คลอดลูกออกมา 4 ตัว ตัวหนึ่งตายทันที ตัวหนึ่งเป็นพีนัท ซึ่งอีก 5 วันต่อมาหนูน้อยก็จากเราไป

          จากที่เล่ามา น่าจะรอด 2ตัว จริงไหมครับ แต่....ตอนที่เขายังอยู่กัน 3 ตัว เราเห็นเขาซุกรวมกันใต้หญ้าแห้งและขนของแม่กระต่าย เพราะลูกกระต่ายต้องซุกกันเพื่อแบ่งปันไออุ่นให้กันและกัน และเมื่อแม่เข้ามาให้นม ก็จะยืนให้นม ณ จุดที่ลูกรวมตัวกัน


          มีตัวหนึ่งที่แตกลุ่มออกไป โดยที่เราไม่ทันสังเกตุ (ใน2-3 วันแรก เราจะไม่เข้าไปยุ่งกับลูกกระต่ายมากนัก เพื่อไม่ให้แม่กระต่ายเครียด)

          กว่าจะรู้ หนูน้อยตัวที่แตกกลุ่มออกไปก็นอนท้องแฟบตัวเย็นชืดอยู๋อีกฟากหนึ่งของรังคลอดเสียแล้ว......
          สุดท้าย จากที่คลอดออกมา 4 ตัว คาร์เทียซึ่งเป็นสี Broken Lynx ก็เหลือลูกอยู่ตัวเดียว เป็น Broken Blue (คงได้จากพ่อที่สี Blue) อ้วนเป็นอึ่งอ่างพองลม น่ารักสุด ๆ เหมือนจะช่วยชดเชยความเสียใจจากการสูญเสียทั้งหมดนั้นให้กับเรา

ลูกตัวเดียวที่รอดมาของ คาร์เทีย....อ้วนกลมพุงป่อง

 
            ริชชี่ ได้ลูก 3 ตัว ตัวหนึ่งคลอดออกมาก็ตาย เหลือ 2 ตัว สีส้ม กับอีกตัว....น่าจะจะเป็น  เซเบิ้ล พอยท์ ทั้งคู่แข็งแรงมาก
          ที่คลอดท้องแรกแล้วรอดเป็นปกติทุกตัว คือ เอสเต้ได้ลูกตัวโตพอประมาณ 2 ตัว สี Blue ทั้งคู่ รอดและแข็งแรงดีทั้งหมดตัวกลม หน้าบานสั้นมู่ทู่ ได้ใจเลย  แค่ 2 อาทิตย์ก็ปีนออกมาจากรังคลอดได้แล้ว พออายุได้ 20 วันก็วิ่งให้พล่าน ซนยังกะลูกลิงลูกค่าง 


การดูแลคุณแม่หลังคลอด
 

          กระต่ายหลังคลอด จะมีความสับสน ตื่นเต้น งุนงง กับประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต ผนวกกับสัญชาติญาณแห่งการเป็นแม่ ที่จะต้องพิทักษ์ปกป้องลูกน้อยของตน แม่กระต่ายจึงดูเครียด ๆ และหวงกรงหวงรัง อาจมีการกัดขนเพิ่ม เพื่อปกป้องลูกน้อยจากอากาศที่หนาวเย็น

          ในธรรมชาติ กระต่ายจะซ่อนลูกไว้ในโพรงดิน ส่วนตัวเองก็ออกหากิน กระต่ายจึงไม่ใช่สัตว์ที่จะมา กก ลูกหรือเฝ้าคลอเคลียอยู่กับลูกเหมือนหมาเหมือนแมว ซึ่งมีเขี้ยวมีเล็บ พอจะคุ้มภัยให้ลูกได้ และลูกกระต่ายบ้าน ก็อ่อนแอ เมื่อเกิดมาก็ยังไม่มีขน มีแต่หนังบาง ๆ ตาก็ปิดสนิท
 
           แม่กระต่ายจะเข้าไปให้นมลูกในช่วงแรกเพียงวันละ 2 ครั้ง คือเช้ามืดกับหัวค่ำ โดยกระโดดเข้าไปในรังคลอด แล้วคร่อมตัวลูก และนิ่งอยู่ในลักษณะหมอบ ลูกจะตะกายเข้าไปใต้ท้องแม่และ....นอนหงายดูดนมแม่ (ผมแอบดูตอนที่ลูกกระต่ายอายุได้ 7-8 วัน) ช่วงเวลาในการให้นมครั้งหนึ่ง ประมาณ 1-2 นาทีเท่านั้นเอง เสร็จแล้ว แม่ก็จะกระโดดออกจากรังคลอด อีนังลูกที่กินนมเสร็จก็นอนหงายท้องพุงป่องอยู่ในรัง น่ารักสุด ๆ จะบอกให้
พอลูกอิ่มดี ก็จะกระดืบ ๆ เข้าหากัน ซุกกันใต้หญ้าแห้งที่มีขนของแม่คลุมอยู่ แล้วหลับปุ๋ย รอกินนมรอบต่อไป

ลูกของริชชี่ ที่เพิ่งกินนมแม่อิ่ม ก็เลยนอนค้างอยู่ท่าเดิมตอนกินนม คือหงายท้อง สบายแฮ
รูปนี้ถ่ายได้ทันเวลาพอดี คือแม่ริชชี่เพิ่งกระโดดออกจากรังคลอด


          ใครที่เคยเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว ขอความกรุณาอย่าเอาความรู้สึกมาปนกัน กระต่ายคือกระต่าย หลายคนกลัวลูกกระต่ายจะตายเพราะนังคุณแม่เธอไม่ยอมดูแล เอาแต่นอนพังพาบอยู่ริมกรง ไม่เห็นจะห่วงใยลูกเลย จะเหลียวไปมองลูกสักนิดก็ไม่มี..... โปรดรับทราบว่า ธรรมชาติของเขาเป็นแบบนั้น อย่าไปเจ้ากี้เจ้าการ อุ้มแม่ใส่รังคลอด เพื่อให้ลูกได้กินนมหลาย ๆ รอบ.... แบบนี้แม่กระต่ายจะเครียด และ...ถ้าแม่กระต่ายประเมินสถานการณ์ว่าเกิดความไม่ปลอดภัย แม่กระต่ายอาจกินลูกหรือทิ้งรังก็เป็นได้


การแอบเข้าไปสังเกตลูกกระต่ายในรังคลอด
 

          การแอบดูลูกระต่ายเป็นครั้งคราวนั้น เป้นเรื่องที่จำเป็นเหมือนกันครับ เพื่อดูว่าลูก ๆ อยู่รวมกันหรือเปล่า อ้วนท้วนสมบูรณ์ดีเท่ากันทุกตัวไหม มีอะไรเป็นที่ผิดสังเกตหรือเปล่า

          ผมใช้วิธีแบบนี้ครับ คือค่อย ๆ เปิดกรง ฮัมเพลง ที่(คิดเอาเองว่า)กระต่ายชอบ เอาสับปะรดอบแห้งเข้าไปติดสินบนนังคุณแม่ พอคุณเธอมัวแต่ตะกรามกินสับปะรดของโปรด ผมก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะลูบเนื้อลูบตัวเธอ ไปมา ซึ่งก็ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ปลอบไม่ให้เธอตระหนกกับการบุกรุกของผมประการหนึ่ง และเพื่อให้มือของผมมีกลิ่นของเธอติดอยู่เป็นประการที่สอง(ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก)

          เมื่อมือของผมหอมหึ่งไปด้วยกลิ่นกายของเธอดีแล้ว ผมก็จะใช้มือข้างนั้นซุกเข้าไปในรังคลอด คลำดูว่าเจ้าตัวจิ๋ว ๆ ทั้งหลายนั้น อยู่รวมตัวกันดีหรือไม่ อุณหภูมิทุกตัวอุ่นดีไหม เลิกหญ้าและขนที่คลุมอยู่เพื่อดูตัวนิดหนึ่งว่าพุงป่องเป็นปกติเท่าเทียมกันหรือเปล่า

          คุณเชื่อไหมครับ ลูกกระต่ายอายุ 4-5 วันที่แข็งแรงสมบูรณ์ดีนี่ พอเอามือที่มีกลิ่นแม่แหย่เข้าไป ก็จะตั้งวงคอรัส ประสานเสียงร้องได้ดังชะมัดเลย ประมาณว่า อี๊ๆๆๆ แอ๊ๆๆๆ อะไรแบบนี้ แล้วก็พล่านกันใหญ่ คงนึกว่าแม่เข้ามาให้นม

          กระบวนการแอบดูลูกกระต่าย ทั้งหมดนี้ รวมแล้วอย่าให้เกินครึ่งนาทีเป็นดีที่สุด มิฉะนั้นคุณแม่เธออาจจะงับเอาได้ และทำเพียงวันละครั้งตอนสาย ๆ ก็เหมาะดีเพราะมั่นใจได้ว่า คุณแม่ น่าจะให้นมลูกเรียบร้อยแล้ว ถ้าเราไปยุ่งมาก ๆ แม่กระต่ายจะเครียด พาลทิ้งลูกเอาก็ได้    
         พ้นจาก 1 สัปดาห์ไปแล้ว แม่กระต่ายจะหวงลูกน้อยลง และยอมให้เราเข้าไปแอบดูได้ง่ายขึ้นครับ


อาหารแม่กระต่าย
           ช่วงท้องและหลังคลอด แม่กระต่ายจะกินจุมาก การให้อาหารก็ให้อาหารตามปกติ แต่มากขึ้น คืออย่าให้ขาดถ้วย ที่ Bunny Delight  เราเสริมด้วยผัก เน้นที่คึ่นช่าย คะน้า และข้าวโพดดิบแกะเมล็ด  

          หญ้าแห้งที่ให้ ช่วงเช้าเป็น Alfalfa เย็นเป็น หญ้าแห้งชนิดอื่น ๆ สลับกันไป อาจเติม Alfalfa ในตอนเย็นอีกหน่อยด้วย
อาหารของแม่ ก็คืออาหารของลูก ดังนั้น.......
 

          เมื่อเราให้อาหารแม่กระต่ายอยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ จนลูก ๆ เธอเริ่มซนและทำท่าจะปีนออกนอกรังคลอด ก็ต้องทำการปรับแผนกันหน่อย

          คืออย่างนี้ครับ ลูกกระต่ายนี่ก็คือกระต่าย....เอ้อ...ผมหมายความว่า ลูกกระต่ายนั้นมีนิสัยประจำของกระต่ายคือเป็นนักสำรวจ อยากรู้อยากเห็น และแทะทุกอย่างที่ขวางหน้า เมื่อบรรดาจอมซนออกมาจากรังคลอดได้ ก็จะงับโน่นแทะนี่ไปเรื่อยๆ ตอนแรก ๆ ก็แค่งับ ๆ  ผมดูจากใบหญ้าขนที่เจ้าพวกนี้แทะเล่นมีแค่รอยขบช้ำ ๆ คือมีฟันแล้วแต่ยังไม่ยาวพอจะกัดอะไรให้ขาดได้ พออายุได้ประมาณ 20 วันนี้ ได้เรื่องละครับ ขนาดหญ้าแห้งยังกัดได้เลย

แม่กินอะไร หนูก็จะแย่งแม่กิน อะหุอะหุ

ดังนั้น....สำหรับบางคน....อาหารของแม่กระต่ายก็ควรปรับใหม่

เรื่องนี้ต้องอ่านที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ให้ละเอียดหน่อย มิฉะนั้นจะเข้าใจกันผิดได้

           ในธรรมชาติ ลูกกระต่ายก่อนหย่านมก็เริ่มกินหญ้าสดในท้องทุ่งแล้ว เพราะมันไม่มีอาหารเม็ดจะกิน แต่กระต่ายบ้าน ลูกกระต่ายที่ออกจากรังคลอด จะกินทุกอย่างที่แม่กิน  หรือทุกอย่างที่อยู่ในกรงแม่นั่นเอง ดังนั้นถ้าอาหารอะไรของแม่กระต่ายที่คุณเกรงว่าน่าจะเป็นอันตรายกับลูกกระต่าย คุณก็ต้องหยุด
          สำหรับเราที่ Bunny Delight หญ้าขนสด และผัก เราเลือกและล้างจนมั่นใจว่าไร้สารตกค้าง ดังนั้น เราจึงไม่ปรับเปลี่ยนอาหารของแม่กระต่ายมากนัก หญ้าขนและผักก็ให้เป็นปกติ  เพียงแต่ลดผักที่มีปริมาณน้ำมาก ๆ อย่างผักกาดขาวลง อาหารเม็ดจากเดิม ที่เป็น  Cuni Nature ผสมกับ Kaytee Supreme ก็เปลี่ยนเป็น  Cuni Nature ผสมกับ  Cuni Junior เพื่อฝึกให้ลูกกระต่ายคุ้นเคยกับอาหารที่เขาจะได้รับในเมื่อถึงเวลาตองแยกกรง ส่วนหญ้าแห้งเคยให้อย่างไรก็ให้อย่างนั้น
          ขอเสริมอีกนิดว่า ลูกกระต่ายนั้น ถูกออกแบบมาให้กินกินหญ้าและผัก (ที่กระต่ายควรกิน) มิใช่อาหารเม็ด ได้แต่ต้องมั่นใจว่าสะอาด ที่เขาห้าม ๆ กันเพราะเกรงว่าลูกกระต่ายจะได้รับสารพิษ และกระต่ายจะพัฒนาระบบการกรองสารพิษที่จะเข้าสู่สมองได้สมบูรณ์เมื่ออายุ 3 เดือนขึ้นไป อย่างของเรา เรามั่นใจว่าสะอาด ก็ให้ได้ ใครจะทำตามหรือไม่อย่างไร ก็ใขอให้ท่านทั้งหลายใช้วิจารณญาณไตร่ตรองเอาเองเถิด


หัดให้ลูกกระต่ายกินน้ำจากขวด

          ในช่วงลูกกระต่ายออกจากรัง ก็เริ่มเอาขวดน้ำขนาดเล็กสำหรับลูกกระต่าย มาติดที่กรงให้อยูใต้หรืออยู่ใกล้กับขวดน้ำแม่กระต่าย ให้ระดับของปลายท่ออยู่ที่ระดับปากของลูกกระต่าย เวลาแม่กระต่ายกินน้ำ น้ำบางส่วนจะหยดลงมาที่พื้น ลูกกระต่ายก็จะรู้ว่าแถวนั้นมีน้ำ และเมื่อเห็นมีท่ออะไรยื่น ๆ มาในระดับปากของตัวก็จะเข้าไปงับๆ ตามประสาซน งับไปงับมา เอ๊ะ....มีน้ำออกมาด้วยวุ๊ย...สนุกละสิ ....การเรียนรู้วิธีการกินน้ำจากขวดก็เกิดขึ้นเอง ด้วยประการฉะนี้


          ที่แนะนำ ขวดน้ำขนาดเล็ก เพราะจะมีปริมาณน้ำน้อย น้ำหนักของน้ำในขวดจะไม่มาก แรงดันของน้ำที่ลูกปืนกลม ๆ ปลายท่อ ก็นิดเดียวลูกกระต่ายตัวน้อย ๆ ก็ใช้ลิ้นดุนกินน้ำได้ง่าย
         

         


การติดตั้งขวดน้ำเล็กสำหรับฝึกให้ลูกกระต่ายหัดกินน้ำจากขวด


การแยกลูกกระต่ายจากอกแม่
          เมื่อลูกกระต่ายกินอาหารเม็ดเป็น และฟันขบฟันเคี้ยวแข็งแรงดี ประมาณอายุได้ 1 เดือนครึ่ง แม่กระต่ายก็ไม่อยากให้นมลูกแล้วเพราะเจ็บหัวนม การหย่านมโดยธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นเอง ช่วงนี้ การแยกอาหารเม็ดสำหรับลูกกระต่ายออกมาอีกถ้วยหนึ่งก็ควรทำ ลูกกินบ้างแม่กินบ้าง ไม่ว่ากัน

          ลูกกระต่ายที่ได้อยู่ในกรงร่วมกับแม่ จนถึงอายุ 2 เดือน น่าจะเป็นกระต่ายที่มีสุขภาพจิตดี ใครที่คิดจะแจกหรือจะขายก็ควรแยกเด็ก ๆ ออกมาใส่กรงต่างหาก โดยเอาหญ้าและขนของแม่ในรังคลอด มาเกลี่ยๆ ไว้ที่พื้นกรงใหม่ ให้เขาคุ้นเคยกับกลิ่นเดิม อย่าลืมเอาถ้วยอาหารและขวดน้ำประจำตัวของเขามาใส่กรงใหม่ให้ด้วย สัปดาห์แรก ให้อยู่รวมกันในหมู่พี่น้อง ถัดจากนั้นก็แยกเดี่ยว เพื่อให้เขาคุ้นเคยกับการอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยลำพัง ก่อนการส่งมอบให้กับผู้ที่จะรับไปดูแลต่อ และหากในช่วงที่แยกกรงออกมานั้น ตอนเช้าตอนเย็นเด็ก  ๆ ได้มีโอกาสวิ่งเล่นในสนามแล้วพบปะกับแม่ของตัวในสนามบ้าง ก็น่าจะทำให้เด็กน้อยเหล่านี้ไม่รู้สึกอ้างว้างจนเกินไปและปรับตัวได้ดีมากขึ้น


จะผสมแม่กระต่ายอีกครั้งเมื่อไหร่ดี
          ความจริงตามธรรมชาติ แม่กระต่าย จะยอมรับการผสม ตั้งแต่คลอดลูกได้ไม่กี่วัน (ใครที่เลี้ยงตัวผู้-ตัวเมีย รวมกัน ขอให้ระวังให้ดี) แต่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม่กระต่ายจะโทรมจัด เพราะต้องให้นมลูกครอกเก่าไปในขณะที่ลูกครอกใหม่ก็เติบโตอยู่ในท้องอีกครอกหนึ่ง ดังนั้น ใครที่เลี้ยงกระต่ายรวม ๆ กัน เมื่อแม่กระต่ายคลอด ควรแยกตัวผู้ออกไปให้ห่าง ๆ เข้าไว้ อย่าได้เอามาเจอกันเลย


          หลังจากหย่านม และแยกลูกออกไปจากกรงแม่แล้ว แม่กระต่ายควรได้รับการบำรุงด้วยอาหารดีๆ แบบเดียวกับช่วงที่ให้นมลูก เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แข็งแรง ประมาณ 1 เดือน จึงค่อยหาช่วง ที่แม่กระต่าย Heat แล้วจึงผสม
          วงรอบแบบนี้ คือตั้งท้อง 1 เดือน ให้นมและดูแลลูก 2 เดือน พักฟื้นและบำรุง 1 เดือน รวม 4 เดือน เป็น 1 วงรอบ แม่กระต่ายจะสามารถให้ลูกที่มีคุณภาพได้ 3 ครอกต่อปี และแม่กระต่ายก็ไม่เหนื่อยเลยครับ

มีกรณีใด ที่เราต้องช่วยเลี้ยงลูกให้แม่กระต่าย
 

          กรณีแรกคือ แม่กระต่ายไม่ยอมเลี้ยงลูก ซึ่งอาจเกิดจากเลี้ยงลูกไม่เป็น คือไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรกับลูก คลอดออกมาแล้ว ก็ไม่เข้าไปหาลูกอีกเลย

          หากไม่ได้รับนมในปริมาณที่พอเพียง ลูกกระต่าย จะมีชีวิตอยู่ได้ 12-15 ชั่วโมง ถ้า เราพบว่าลูกกระต่าย ตัวเหี่ยว ท้องแฟบ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนครับว่าแม่ไม่ให้นม ลองจับแม่กระต่ายมานอนหงายท้อง (อาจต้องมีการบังคับ) แล้วจับลูกมาวางประคองลูกไว้ไม่ให้ตกจากท้องแม่และให้ปากอยู่ที่หัวนม ลูกจะดูดนมแม่ทันที

          ทำแบบนี้ทีละตัว (แต่แม่กระต่ายอาจดิ้นแรงมาก) จนลูกได้นมพอสมควร คือท้องหายแฟบ ก็เอาลูกคืนรังคลอด 10-12 ชั่วโมงต่อมาก็แอบดูซิว่าลูกท้องแฟบอีกหรือเปล่า ถ้าแฟบมาก ก็ต้องขืนใจกันอีก 2-3 รอบ


           เมื่อลูกกระต่ายดูดนมแม่ 2-3 ครั้ง ร่างกายของแม่ก็จะผลิตนมออกมามากขึ้น อาการอยากให้นมลูกก็จะเกิดเอง


          แต่ถ้าลูกดูดแล้วไม่มีนม หรือนมมีน้อยไม่พอกิน หรือแม่กระต่ายดิ้นจนบังคับไม่ได้ เราก็ต้องป้อนนมเสริม



          อีกกรณีหนึ่งคือ แม่กระต่ายให้ลูกหลายตัว และอาจมี 1-2 ตัว ที่แย่งนมกับตัวอื่น ๆ ไม่ทัน ตัวที่ได้นมมากก็โตเร็ว แข็งแรง ยิ่งแข็งแรงก็ยิ่งแย่งนมเก่ง ไอ้ตัวที่ไม่ได้นมก็ยิ่งหมดแรง สู้เขาไม่ไหวผอมเอาๆ แบบนี้ก็ต้องแยกเอามาฝากแม่ตัวอื่นที่คลอดห่างกันไม่กิน 2-3 วัน โดยจับแม่บุญธรรมหงายท้อง เอามือบังตาแล้ว เอาลูกฝาก ไปถู ๆ แถวคางและขาหนีบแม่บุญธรรม จากนั้นก็เอาลูกฝากไปไว้ในรังคลอดให้ซุกรวมกับตัวอื่น แต่ถ้าหาแม่บุญธรรมไม่ได้ เราเองก็ต้องทำการแทน



วิธีการป้อนนมลูกกระต่าย


รูปที่ลงให้ดูนี้ เป็นรูปที่ถ่ายตอนป้อนนมให้หนูน้อยที่เป็น Peanut            


          นมที่ใช้ ใช้ตามที่คุณหมอแนะนำคือ นมสำหรับลูกหมา ที่ชื่อ ESbilac  หรือนมสำหรับลูกแมว ชื่อ KMR ตวงมา1 ช้อนปาด ผสมกับน้ำอุ่นจัด 2 ถ้วย (ทั้งช้อนและถ้วยได้รับมาพร้อมนมผงแบบกระป๋อง) คนให้เข้ากัน ในถ้วยแก้วเล็ก ๆ และหล่อถ้วยนมที่ผสมแล้วนี้ไว้ในถ้วยน้ำอุ่นเพื่อรักษาอุณหภูมินม มิให้เย็นเร็วเกินไป

ภาพแสดงวิธีการหล่อถ้วยนมในถ้วยน้ำอุ่น

          นมทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ดีมาก แต่แพงเอาเรื่อง กระป๋องหนึ่งใกล้พันบาท ซึ่งเหมาะกับลูกหมาที่กินจุมาก ลูกกระต่ายนี่กินวันละนิดเดียว ถ้าเปิดกระป๋องแล้วเหลือเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไป (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเจอสถานการณ์แบบนี้อีกเมื่อไหร่) ทำให้อาจไม่สบายใจเพราะเกรงว่าจะไม่สดเท่าที่ควร ดังนั้นควรหา แบบซอง ซึ่งราคาแค่ร้อยกว่าบาท มาใช้ได้ จะดีกว่าทั้งความสดและความประหยัด เพราะซองหนึ่งใช้กับลูกกระต่ายได้หลายวัน ถึงจะเหลือบ้างก็ไม่มากครับ  หากเป็นรุ่นกระป๋องแบบน้ำซึ่งพร้อมที่จะป้อนเลย  เมื่อเปิดกระเป๋าแล้วต้องแช่เย็น และมีอายุอยู่ได้ 72 ชม.

          การป้อน ก็ใช้หลอด Dropper ชนิดที่ปลายเล็ก ๆ ดูดนมจากถ้วยขึ้นมา เอาไปจ่อปากป้อนโดยบีบลูกยางช้า ๆ ระวังอย่าบีบเร็ว ลูกกระต่ายอาจสำลัก

ในช่วง 1 -3 วันแรก ให้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 mL
5-8 วัน ให้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1.5-2. mL
8-12 วัน ให้วันละ 3 ครั้ง ปริมาณตามที่เขาพอจะกินได้
ทั้งหลายทั้งปวง อย่าเคร่งกับตัวเลขนัก เอาเป็นว่า ดูจากลูกกระต่ายเป็นเกณฑ์จะดีกว่า


          นมที่ให้นี้ แม้จะมีคุณค่าทางอาหารที่มากพอ แต่สิ่งที่ขาดไปคือจุลชีพจำเป็น ที่กระต่ายทุกตัวต้องมีในระบบย่อยอาหาร จุลชีพวิเศษเหล่านี้ มีมากมายในอึพวงองุ่น ดังนั้นในการผสมนม ควรเอาอึพวงองุ่นจากกระต่ายโต  มาผสมด้วย(ถ้าได้ของแม่กระต่ายก็จะดีมาก) โดยเขี่ยมา 1 เม็ดเล็ก ๆ บี้ผสมลงไปในนม ให้วันละครั้งก็พอ และทำติดต่ออย่างน้อยที่สุด 5 วัน

          ไม่เอาน่า อย่าทำหน้าเบ้แล้วคิดว่าอีตาบ้านี่ จะยุให้ช้านเอาขี้กระต่ายมาให้ลูกกระต่ายกิน อึพวงองุ่นนี่เป็นของดีนะจะบอกให้ หากยังไม่รู้จักก็ไปหาอ่านในบทความชุดก่อน ๆ ของผมดูเอาเถิด จะเข้าใจดีขึ้นขอรับ


          หลังจากอิ่มหนำกันแล้ว  ก็อย่าลืมเอาสำลีชุบน้ำอุ่นๆเช็ดตรงก้นและจุ๊ดจู๋หรือจุ๋มจิ๋ม ของเจ้าตัวเล็กด้วย  เป็นการกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายแทนการเลียที่แม่กระต่ายควรจะทำให้

ขอขอบคุณ www.bunnydelight.com