วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตัวดีเป็นหนุ่มแล้ววววว



ผ่านไปแป๊ปเดียวเจ้าตัวดีลูกชายของบ้านเราก็เป็นหนุ่มแล้ว แต่ยังขี้เล่นและขี้อ้อนเหมือนเดิม ทุกๆวันเวลาเราเปิดประตูกลับเข้ามา เจ้าตัวดีจะรีบวิ่งขึ้นไปบนชั้นสามของกรงพร้อมกับยื่นปากออกมานอกกรงเพื่อรอให้เราป้อนขนม ถ้าขนมชิ้นไหนไม่อร่อยรสชาดไม่ถูกปากก็จะหันหน้าหนี หรือบางทีดึงจากมือเราแล้วก็คายทิ้ง พออิ่มก็จะลงจากคอนโดชั้นสามมายังชั้นล่างตรงหน้าประตู สองขาหน้าเกาะประตูกรงอ้อนให้เปิด ด้วยความเคยชิน (แบบว่าอยากจะออกเต็มทีแล้ว อยู่แต่ในกรงมาทั้งวันแล้ววว)

พอออกมาได้ก็กระโดด ย๊องๆๆ ยิ่งถ้าเราเล่นกับเค้า เค้าจะวิ่งวนรอบตัวเราด้วยความดีใจ ถ้าวันไหนเราแกล้งไม่เล่นด้วย เจ้าตัวดีก็จะเข้ามาดึงขอบกางเกงเราบ้างล่ะ เข้ามาเลียตามแขนขาเราบ้างล่ะ หรือไม่ก็เข้ามาซุกอยู่บนตักซะเลย  ทำให้เรารู้สึกหายเหนื่อยได้เลยล่ะ


ตัวดีอยากรู้อยากเห็นค้าบบ
เดือนที่แล้วตัวดีได้ท่อนไม้ เป็นของรางวัลเนื่องจากทำตัวน่ารัก ประโยชน์ของท่อนไม้นี้ ช่วยป้องกันไม่ให้กระต่ายมีฟันที่ยาวจนเกินความพอดี ซึ่งถ้ากระต่ายมีฟันที่ยาวมากปัญหาที่ตามมาคือ กระต่ายจะแทะอาหารไม่ได้ และจำเป็นต้องให้หมอตัดฟัน ตัวดีเป็นกระต่ายที่แข็งแรง ไม่เคยป่วยเลยเพราะเราใส่วิตตามินในน้ำให้ทุกครั้ง และจะมีแคลเซี่ยมไว้ให้ด้วย


มันนี่ก็อยากรู้เหมือนกันว่าข้างบนมีอะไร
 ตัวดีเป็นหนุ่มแล้วพร้อมที่จะ แต่งงานได้แล้ว แต่ว่าที่เจ้าสาวเรานี่สิ (มันนี่) ตอนนี้สี่เดือนแล้วล่ะรออีกอึดใจเดียว รอให้มันนี่(ว่าที่คู่มั่น) มีความพร้อมมากกว่านี้ก่อน เราก็จะเห็นลูกกระต่ายตัวน้อยๆในบ้านของเรา

นอนสบาย ชิลชิล

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การให้อาหารกระต่าย

อาหารกระต่าย

จำเป็นต้องให้วิตามินกระต่ายหรือไม่
ไม่จำเป็น เพราะกระต่ายจะได้รับสารอาหารครบถ้วนจากหญ้า ผัก ผลไม้ และอาหารเม็ด
กินอย่างไรให้มีอายุยืนยาว
หลายคนมักจะคิดว่าอาหารเม็ดเป็นสูตรอาหารสำเร็จรูปที่มีสารอาหารครบถ้วนสำหรับกระต่าย แต่ในความเป็นจริงอาหารเม็ดเหล่านี้ถูกคิดค้นมาสำหรับกระต่ายที่เลี้ยงไว้กิน หรือแล่ขนเท่านั้นเพื่อที่กระต่ายจะได้โตไว แต่สำหรับกระต่ายที่เราเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนนั้น เราก็ต้องการให้เขามีสุขภาพดี และชีวิตที่ยืนยาว ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาหาร และระบบการย่อยอาหารของมัน
        กระต่ายมีระบบย่อยอาหารที่ค่อนข้างซับซ้อน การให้อาหารที่เต็มไปด้วยไขมัน+โปรตีนสูง และกากใยต่ำ (ตัวอย่างเช่น อาหารเม็ดอย่างเดียว) ทำให้บั่นทอนสุขภาพ และทำให้วงจรชีวิตสั้นลง  กระต่ายที่ได้รับการทำหมัน กินอาหารที่เหมาะสม และอาศัยอยู่ในบ้าน เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว และมีการออกกำลังกายพอสมควร สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตั้งแต่ 8-13 ปี
อาหารหลัก
กระต่ายโต      หญ้าแห้ง/สดไม่จำกัดปริมาณ
                      ผักสด
                      อาหารเม็ดที่จำกัดตามน้ำหนักตัวกระต่าย
กระต่ายเด็ก     หญ้าแห้ง/สดไม่จำกัดปริมาณ
                      อาหารเม็ดไม่จำกัดปริมาณ
หญ้า               จำเป็นมากสำหรับกระต่าย เพราะมันเป็นแหล่งที่มาของ กากใยซึ่งช่วยในระบบขับถ่าย ป้องกันโรคก้อนขน และยังช่วยให้สุขภาพฟันดีอีกด้วย
อาหารเม็ด       ต้องสดใหม่ อย่าซื้อมาเก็บไว้นานเกิน 2 เดือน เพราะอาจะทำให้มีกลิ่นเหม็นอับ และเสียคุณค่าทางสารอาหารได้
ผัก                  ต้องสดและปลอดสารพิษ ควรให้ผักวันละ 3 ชนิดต่างกัน แบ่งอาหารเม็ดและผักระหว่างมื้อเช้ากับมื้อเย็น ส่วนหญ้าควรมีให้ตลอด
สัดส่วนทางโภชนาการในแต่ละช่วงระยะเวลาของชีวิตกระต่าย
ตั้งแต่เกิด – 3 อาทิตย์             นมแม่
3 – 7 อาทิตย์                          นมแม่ อาหารเม็ด หญ้าอัลฟาฟา
7 อาทิตย์ – 7 เดือน                 ไม่จำกัดปริมาณหญ้าอัลฟาฟาและ
                                               อาหารเม็ด
4 – 5 เดือน                               เริ่มให้ผักทีละนิด แล้วค่อยเพิ่ม
                                               ปริมาณขึ้นเรื่อยๆ
7 เดือน - 1 ปี                           ลดอาหารเม็ดลงให้เหลือ ¼ ถ้วยต่อน้ำหนักตัว  5   ปอนด์ (1ปอนด์ = 0.45 กิโลกรัม)
                                                ค่อยๆเพิ่มปริมาณผัก
                                                ผลไม้ 1-2 ครั้ง/อาทิตย์ (อย่าให้มากกว่า 2 ช้อนโต๊ะ)
                                                ไม่จำกัดปริมาณหญ้าสด/แห้ง งดให้หญ้าอัลฟาฟา เพราะมันมีแคลอรี่ และแคลเซี่ยมสูง ปริมาณแคลเซี่ยมที่สูงจะทำให้เกิด calcium stones (นิ่ว)
1 – 5 ปี                     อาหารเม็ด  ¼ ถ้วยต่อน้ำหนักตัว 5 ปอนด์ (1ปอนด์ = 0.45 กิโลกรัม)
ไม่จำกัดปริมาณหญ้า
ผัก 2-3 ถ้วยต่อน้ำหนักตัว 5 ปอนด์ ถ้ากระต่ายไม่ค่อยกินหญ้าก็ให้ลดปริมาณผักลง
ผลไม้ 1-2 ครั้ง/อาทิตย์ (อย่าให้มากกว่า 2 ช้อนโต๊ะ) งดให้ผลไม้สำหรับกระต่ายอ้วน
6 ปีขึ้นไป                  ถ้ากระต่ายมีสุขภาพดี ก็ให้อาหารตามปกติ สำหรับกระต่ายที่อ่อนแอหรือแก่กว่านี้ อาจจะไม่ต้องจำกัดปริมาณอาหาร เพื่อทำน้ำหนักให้เพิ่มขึ้น
ข้อควรจำ : กระต่ายที่มีอายุมากควรจะได้รับการตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง เพื่อที่จะเช็คระดับแคลเซี่ยมและการทำงานของไตฯลฯ 

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มันนี่ (ว่าที่คู่หมั้นเด็กชายตัวดี)


มันนี่

วันนี้ เรามีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง นั่นก็คือ กระต่ายน้อย วู๊ดดี้ทอย ขนยาวนุ่มนิ่ม เพศเมีย ได้มาจากร้านเดิมที่เดียวกับเด็กชายตัวดี ตอนแรกเรายังไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อกระต่ายน้อยตัวนี้ว่าอะไรดี มีหลายชื่อจากซินแสชื่อดังให้เลือก เราจึงทำการโหวตเสียง จนในที่สุดเราก็ได้ชื่อนี้มา "มันนี่" ชื่ออันเป็นมงคลแห่งความร่ำรวย มันนี่ จะมาเป็นว่าที่คู่หมั้นของเด็กชายตัวดี และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมของทั้งคู่ เราจะจัดการให้ทั้งสองมีทายาทน่ารักๆ ทันที ตอนนี้มันนี่อายุเดือนครึ่ง มีขนที่ยาวมาก มีดวงตาสีทับทิม  มันนี่เป็นกระต่ายที่ไม่กลัวใครในขณะเดียวกันก็มีความเรียบร้อยบวกกับฉายแววความฉลาด จึงเหมาะที่จะมาเป็นสะใภ้ของบ้านเราในอนาคต

หน้าน้องเหมือนตุ๊กตาเลย
ขอจองมุมนี้นะจ๊ะ
สีชมพูกรงของมันนี่นะ

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กรงและสถานที่ ที่จะเลี้ยงกระต่าย จากผู้มีประสบการณ์

กรงและสถานที่ ที่จะเลี้ยงกระต่าย
     กระต่ายนี่เป็นสัตวที่เงียบ ๆ (แทบ)ไม่มีปากมีเสียง แต่สุดยอดด้านสอดรู้สอดเห็น และซนสุด ๆ ช่างงับช่างแทะเป็นที่หนึ่ง และที่สำคัญ กระต่ายถูกธรรมชาติออกแบบมาเพื่อการวิ่งและกระโดด การขังกระต่ายในกรงตลอดเวลา จึงเป็นการทรมานกระต่ายได้สาหัสที่สุด
     กระต่าย มีวิญญาณธรรมชาติที่ยังไม่สามารถลบออกจากรหัสพันธุกรรมได้  ถ้าจำเป็น กระต่ายก็อยู่ได้ในกรงโลหะแต่เพื่อความสุขของเค้า ก็ควรเสริมความเป็นธรรมชาติให้เค้าบ้าง ด้วยโพรงไม้ หรือบ้านไม้ และปล่อยออกมาวิ่งเล่นในสนามบ้าง ถ้าไม่มีสนาม การวิ่งในห้องก็นับว่าใช้ได้
     กรงกระต่ายในตลาด มีให้เลือกหลายแบบ แทบทั้งหมดเป็นกรงเหล็กชุบโครเมียม พื้นก็เป็นเหล็กตะแกรง ใต้พื้นกรงมักเป็นถาดพลาสติกสำหรับรองรับฉี่และอึของกระต่าย ในทางทฤษฎี บอกว่า กรงเที่กระต่ายจะไม่รู้สึกอึดอัดมาก คือกรงที่มีด้านหนึ่งยาวไม่น้อยกว่า 5 เท่าของความยาวตัวกระต่าย แต่ก็คงหายากหรือถ้ามีก็คงแพงเอาเรื่อง เอาเป็นว่า ควรเลือกกรงที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะมีกำลังทรัพย์ก็แล้วกัน หากเลือกกรงที่เล็กเกินไป กระต่ายจะอึดอัด เครียด และมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรือไม่ก็หวาดระแวงมากกว่าที่ควร
"สาวแนลซิล่าผู้มีความสุขกับการวิ่งบนพื้นหญ้าและการกิน"
     ในถาดรองกรง ควรอย่างยิ่งที่จะต้องโรยวัสดุซับฉี่กระต่ายได้ด้วย ในท้องตลาดจะเป็นขี้เลื่อยหยาบ ขี้เลื่อยอัดเม็ดและซังข้าวโพดบด ไม่ว่าจะเป็นแบบใด ถ้าเลือกได้ควรเลือกชนิดที่เสริมแบคทีเรียซึ่งมีความสามารถในการย่อยสลายอึและฉี่กระต่าย ทำให้สามารถลดกลิ่นฉุนอันเป็นเรื่องน่ารำคาญของใคร ๆ ลงได้มาก และเมื่อวัสดุรองพื้นกรงหมดสภาพ ควรเปลี่ยนทันที 
     การล้างทำความสะอาดกรงเป็นเรื่องจำเป็น   เพื่อลดความหมักหมมของสิ่งปฏิกูลที่ค้างบนพื้นกรง  บางครั้งเราคิดว่าล้างถาดรองใต้กรงแล้วเป็นอันจบ   จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะฉี่ที่ลอดผ่านพื้นกรงจะมีความเข้มข้นมากกว่าน้ำ  และจับกับซี่ตะแกรงพื้นกรง   ดังนั้นควรนำกรงและอุปกรณ์กรงต่างๆ  มาล้างให้สะอาดถ้าเป็นไปได้ควรตากแดดให้แห้งเพื่อฆ่าเชื้อโรค  วิธีนี้ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นเชื้อราและไรในหูได้มาก
     ขนาดของซี่กรง ทั้งด้านข้างและพื้น ไม่ควรกว้างเกินไป โดยเฉพาะที่พื้น เพราะเท้ากระต่ายไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเดินบนซี่ลวด ทางออกที่ดีก็คือการซื้อแผ่นพลาสติกรองพื้นมาเสริม แม้จะลื่น แต่ก็ยังดีกว่าลวด ทั้งนี้เพื่อให้กระต่ายเหยียบและเดินได้สะดวกขึ้น และหาทางให้กระต่ายได้ออกมาวิ่งบนพื้นหญ้าหรือพื้นนุ่ม ๆ บ้าง เพราะถ้ากระต่ายต้องเดินบนพื้นลื่น ๆ ตลอดเวลา เท้าอาจจะแป คือแบะออกด้านข้างได้ ยิ่งเป็นลูกกระต่าย ยิ่งต้องระวังและดูแลในส่วนนี้ให้มาก 
     อีกเรื่องที่บางครั้งเหมือนผงบังตา  คือ อาการSore  Hock หรืออีกชื่อว่าPododermatitis  เป็นอาการของเท้ากระต่ายเป็นแผลเนื่องจากเท้ากระต่ายเสียดสีกับพื้นกรง  เป็นมากกับกระต่ายสายพันธุ์ที่มีขนใต้ฝ่าเท้าน้อยๆเช่น  มินิเร็กส์ และกระต่ายที่น้ำหนักตัวมากๆ  ทำให้เกิดการอักเสบและเป็นแผลขึ้นมา   หากปล่อยไว้นานๆจะมีการติดเชื้อและเป็นหนองได้   คุณหมอแนะนำให้รองพื้นกรงด้วยวัสดุที่เหมาะกับเท้าเค้า  เช่นแผ่นรองพื้นกรงพลาสติก  แผ่นไม้   เท้าเค้าจะได้ไม่เสียดสีกับซี่ลวดพื้นกรง
     กรงที่เป็นโลหะชุบหรือพ่นสี ขอให้ดูดี ๆ เพราะกระต่ายนั้น แทะทุกอย่างที่ขวางปาก หากสีซึ่งมักมีสารตะกั่วปนอยู่ในปริมาณมากหลุดล่อนออกมาแล้วกระต่ายกินเข้าไป....ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย
     สำหรับเราซึ่งมั่นใจว่า พื้นไม้ เป็นสิ่งที่กระต่ายเหยียบและเดินได้เหมาะที่สุดรองจากพื้นดิน ที่ Bunny Delight กรงกระต่ายของเราจึงทำจากไม้เกือบทั้งหมด ยกเว้นด้านข้างเท่านั้น ที่เป็นลวดตาข่าย โดยเฉพาะที่พื้น เราเลือกไม้เนื้อแข็งเช่นไม้เต็งไทย เพื่อมิให้ชื้นง่ายและทำความสะอาดได้สะดวกมาก  หากใครพอทำได้ก็ขอให้ทำเถิด กระต่ายจะอยู่สบายมากกว่ากรงโลหะเยอะเลย

ว่าด้วยอุณหภูมิ
     กระต่ายไทยไม่ค่อยมีปัญหากับอากาศร้อน(ถ้าไม่ร้อนจนเกินไป) แต่กระต่ายสายพันธุ์นอก  บ้านที่เขาหรือพ่อแม่เขาถือกำเนิดมานั้น อาจมีหิมะปีละหลายเดือน ถ้าอากาศร้อนมาก หูที่ใช้ระบายความร้อนออกจากร่างกายก็จะขยายยาวใหญ่ผิดรูป ขนหูจะบางลง ขนตามตัวก็ไม่หนาไม่แน่น แว็กซ์ ที่เคลือบขนซึ่งเคยลื่นนุ่มมือก็น้อยลง
     อุณหภูมิที่เหมาะสม สำหรับกระต่ายที่เพิ่งนำเข้า คือประมาณ 22-24 องศาเซลเซียส และเมื่อปรับตัวได้ระยะหนึ่ง ก็ไม่ควรเกิน 27 องศา

อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าอากาศร้อนเกินไป
     เมื่อกระต่ายร้อน และร้อนต่อเนื่อง จะเกิดภาวะที่เรียกกันว่า Heat Stock อาการแรกที่แสดงออกคือเขาจะหายใจถี่เร็ว ดูจมูกและอาการหอบก็รู้ จากนั้นก็จะเริ่มซึม คอตก หมดแรง ขาห้อย ...และ สุดท้าย คือ ตาย
     อาการ Heat Stock อาจเกิดได้ในอีกกรณีคือ การเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว เช่น นำกระต่ายออกจากห้องแอร์ ที่มีอุณหภูมิ 24 องศา มาวิ่งในสนาม ที่มีอุณหภูมิ 30 องศาหรือกว่านั้น การเปลี่ยนอุณหภูมิแวดล้อมทีเดียวหลาย ๆ องศา แบบนี้ โอกาสที่จะเกิดภาวะ Heat Stroke ก็มีได้สูง
การเลี้ยงกระต่ายในห้อง
     ถ้าคุณปล่อยกระต่ายให้วิ่งในห้อง สิ่งที่ต้องระวังอันดับหนึ่ง คือสายไฟ น้องต่ายของคุณชอบแทะมาก แทะถึงลวดทองแดงข้างในเมื่อไหร่ ก็....RIP ละครับ
     ต่อมาก็คือ ถุง-หมอน กระต่ายอาจจะมุดเข้าไปแล้วออกไม่ได้ จนขาดอากาศตายในที่สุด และชั้นต่าง ๆ รวมทั้งกรงที่เป็นซี่ ๆ ที่มีช่องห่างเกินไป กระต่ายจะเอาหัวมุดออกมาได้ แต่ดันทำคอเอียงแลยดึงกลับไม่ได้ ติดตายอยู่ตรงนั้นเอง เรื่องแบบนี้มีผู้เลี้ยงกระต่ายเอาเรื่องแบบนี้มาโพสเป็นตัวอย่างแล้วทั้งสิ้น
     กระต่ายเป็นสัตว์ที่ชอบประกาศดินดินแดนด้วยอึและฉี่ ดังนั้น ที่นอน หมอน ผ้าห่มของคุณจะสกปรกมาก ห้ามก็ยากด้วยเพราะมันเป็นธรรมชาติของเขา แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออยู่กันไปนาน ๆ ทั้งนี้เพราะเค้ามั่นใจแล้วว่า ห้องนี้ทั้งห้องเค้าคือเจ้าของไม่จำเป็นต้องประกาศศักดาอีกต่อไป อีกประการหนึง กระต่ายที่อายุมากขึ้น คือเกิน 1 ปี ก็มักลดพฤติกรรมทำนองนี้ลงทีละน้อย
แต่ถ้าคุณเอากระต่ายตัวใหม่เข้ามาในห้อง....ไม่แน่นะว่า อาการเดิมจะกำเริบขึ้นมาทันตาเห็น

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

เด็กชายตัวดี

ด.ช.ตัวD

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา บ้านเรามีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งชีวิต นั่นก็คือ เด็กชาย ตัวD    
ด.ช. ตัวD เป็นกระต่ายเพศผู้ พันธุ์ Wooddy Toy ตอนนี้อายุเดือนครึ่งค่ะ ได้มาจากสวนจตุจักร ร้าน Rabbit instinct ร้านนี้เค้าเพาะกระต่ายขายค่ะเค้ามีฟาร์มขนาดใหญ่ วันนั้นฉันเดินผ่านร้านนี้พอดี สายตาก็ไปสะดุดกับเจ้าตัวD ที่กำลังกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อยหน้าตาท่าทางของเค้าน่ารักมาก ก็เลยอดที่จะยืนมองไม่ได้ยิ่งมองนานๆ ก็มีความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของขึ้นมาทันที เลยไม่รอช้ารีบเข้าไปถามราคาและตกลงทันที หลังจากนั้นก็ไปหาที่อยู่ให้เค้า ก็ได้ทาวเฮ้าส์สามชั้นมาหลังหนึ่งไว้เป็นอาณาเขตสำหรับเจ้าตัวD ดูท่าทางเจ้าตัวD ตื่นเต้นมากเมื่อมาอยู่กับฉันคงแปลกที่ แต่เค้าก็ไม่มีความรู้สึกกลัวเลย วิ่งเล่นโหยงๆ ฉันพยายามเรียกชื่อเค้าบ่อยๆ อยากให้เค้าจำชื่อตัวเองได้ ดูท่าทางแสนรู้ และก็เชื่องดีนะ เจ้าตัวดีมีขนยาวสีขาวแต้มสีดำ คนขายบอกว่าถ้าโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กก.ก็ขนาดประมาณลูกสุนักพันธุ์ปอมเมอเรเนียน อาหารของเค้าในระยะนี้ก็จะเป็นหญ้าแห้ง+อาหารเม็ด กว่าจะได้กินผักสดก็ต้องรอไปจนอายุ 6 เดือนค่ะ ตอนนี้เค้ายังเด็กอยู่ต้องเลี้ยงอย่างระมัดระวังมาก เค้าจะได้อยู่กับเราไปนานๆ

วัยละอ่อน
หิวค้าบ
ทาวเฮ้าส์ของผม
ผมกับคุณแม่

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

เตรียมใจเลี้ยงกระต่าย

1. ตอนที่จะรับกระต่ายมา อย่าลืมขออาหารที่น้องกระต่ายกินอยู่มาด้วย ปริมาณ   อาหารที่ขอมาควรมากพอสำหรับ 5- 7 วัน (ประมาณ200-300 กรัม) เป็นอย่างน้อย ถ้าขอจานอาหารและขวดน้ำที่น้องกระต่ายใช้ประจำอยู่มาได้ด้วย จะยิ่งดีใหญ่

2. เมื่อถึงที่พัก -v.shอดใจไว้ก่อน อย่าเพิ่งเล่นกับกระต่าย ให้รีบนำกระต่ายเข้ากรงใหม่ ให้อาหารที่เขาเคยชินและให้น้ำที่ผสม Pro Digst หรือPro Biotic ทันที   เพราะหลายกรณีที่เคยได้ยินและได้พบมานั้น  กระต่ายเกิดภาวะเครียดจากการเดินทางและการย้ายที่อยู่  ภาวะเครียดนี้จะทำให้กระต่ายหลั่งสารเคมีบางอย่างออกมาทำให้ระบบทางเดินอาหารรวน และกระต่ายอาจจะท้องเสีย การเสริมจุลชีพที่มีประโยชน์ให้เขาในทันที จะช่วยชลอหรือยับยั้งอาการป่วยที่อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

3. ข้อ 2 นั้นทำยาก เพราะหลายคนอาจกำลังเห่อ ในข้อ 3 นี้ยากกว่าอีกเพราะกำลังจะบอกว่าใน 48 ชั่วโมงแรก อย่าเพิ่งเอาน้องกระต่ายออกมาจากกรงและอย่าเพิ่งเอาออกมาอุ้ม เพราะในการย้ายบ้านวันแรก ๆ กรงก็ใหม่ กลิ่นรอบ ๆ ตัวก็ใหม่ อะไร ๆ ไม่คุ้นหู คุ้นตา คุ้นจมูกไปหมด ยิ่งบางราย รับกระต่ายโดยแยกจากอกแม่มาเลยนี่ยิ่งแย่ใหญ่ กระต่ายจะสับสนและระแวงภัย ต้องใช้เวลาในการปรับตัว ช่วงแรกนี้ อย่าทำอะไรรุนแรง อย่าให้มีเสียงดังโครมคราม และไม่ควรเลยที่จะเอาออกมาวิ่งเล่น
4. ในการให้อาหารแต่ละครั้ง ควรเรียกชื่อแล้วยื่นหลังมือให้กระต่ายดม เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเขาไปเรื่อย ๆ หลังจาก 48 ชั่วโมงไปแล้ว อาจลูบหัวลูบตัวได้แต่ถ้ากระต่ายวิ่งหนีไปซุกมุมกรง อย่าฝืนใจเด็ดขาด

5. ถ้าเป็นไปได้ ควรให้กระต่ายอยู่ในห้องที่มีอากาศเย็นสบาย  ไม่ควรร้อนเกิน 28 องศาเซลเซียส และไม่ควรย้ายไปย้ายมา กระต่ายอาจทนอากาศที่ร้อนได้บ้าง แต่ไม่ควรมีการเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างฉับพลันทันที และถ้าจะเปิดพัดลมให้ อย่าเป่าตรง ๆ  ควรปรับพัดลมให้ส่ายจะดีกว่า

6. ควรให้อาหารชนิดเดียวกับที่เขาเคยกิน แต่หากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ควรให้เขากินอาหารแบบเดิมไปอีก 2 วัน เพราะอย่างน้อย ในความแปลกใหม่ของอะไร ๆ รอบตัว มีอาหารเดิมเป็นสิ่งที่คุ้นเคยสักอย่างหนึ่ง ก็จะช่วยให้เขาเครียดน้อยลง จากนั้นให้เริ่มผสมอาหารใหม่กับอาหารเก่าในวันที่ 3 โดยผสมอาหารใหม่วันละประมาณ 15-20 % หรือกะให้เปลี่ยนเป็นอาหารใหม่ทั้งหมดใน 5-7 วัน ระหว่างนี้ ขอให้สังเกตพฤติกรรมการกินว่ากระต่ายยอมรับอาหารใหม่หรือไม่ มีอาการท้องเสียหรือไม่

7. อย่าให้กระต่ายกินอะไรที่ไม่ใช่อาหารสำหรับกระต่าย หรืออาหารที่ยังไม่เหมาะสมกับวัยโดยเด็ดขาด กระต่ายอายุน้อยที่ท้องเสีย จะมีโอกาสรอดยาก (กรุณาอ่านบทความเรื่องการให้อาหารกระต่ายประกอบด้วย)
8. หลังจาก 3 วันไปแล้ว คุณกับน้องกระต่ายน่าจะคุ้นเคยกันดี น้องกระต่ายก็ปรับตัวได้พอสมควร เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเล่นกับเขาได้ เริ่มจากเรียกชื่อน้องต่าย พร้อมกับลูบหัวลูบหลังเบา ๆ  การพูดคุยด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล หรือฮัมเพลงโปรดเบา ๆ จะช่วยให้เขารู้สึกอบอุ่นดียิ่งขึ้น          

9. หลังจากสร้างความคุ้นเคยจนลูบเนื้อลูบตัวกันได้แล้ว ก็เข้าสู่จังหวะเวลาที่เหมาะสมกับการปล่อยออกวิ่งเล่นในห้อง แต่ควรระวังสิ่งที่จะเสียหายจากการกัดแทะและสิ่งที่จะเป็นอันตรายกับน้องกระต่ายด้วย

10. ขอให้ศึกษาวิธีการเลี้ยงกระต่ายอย่างถูกต้อง

วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

การดูแลกระต่ายหลังคลอดจากผู้มีประสบการณ์

การดูแลกระต่ายหลังคลอดและการบริบาลลูกกระต่าย
          จากบทความชุด นางสาวกระต่ายจะมีสามี เมื่อมีสามี ก็จะต้องมีท้องแล้วก็คลอด บทความนี้จึงต้องตามมาคือการดูแลกระต่ายหลังคลอดและการเลี้ยงดูลูกกระต่ายให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ


          ตามหลักการแล้ว กระต่ายจะมีช่วงตั้งท้อง 30 วัน (ฝรั่งหลายรายบอกว่า 31 วัน) จะขาดจะเกิน ในช่วง +/- 2วัน และตามสถิติเขาว่ากันว่า ลูกกระต่ายในกลุ่มกระต่ายแคระเช่น HL และ ND นี้ครอกหนึ่ง จะมีประมาณ 4 ตัว

          เมื่อครบกำหนดคลอด แม่กระต่ายจะกัดและกินรกรวมทั้งถุงที่หุ้มตัวลูก และเลียตัวให้ลูก ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำความสะอาดและกำจัดกลิ่น เพราะเป็นสัญชาติญาณที่ต้องทำ เพื่อมิให้สัตว์นักล่าทั้งหลายได้กลิ่น รวมทั้งป้องกันมิให้มดและแมลงเข้ามากวนแล้ว การเลียตัวให้ลูกนั้นเหมือนการนวดเบา ๆ จะเป็นการกระตุ้นให้ลูกกระต่ายเคลื่อนไหว และทำให้ลูกกระต่ายคุ้นเคยกับกลิ่นของแม่  ส่วนรกที่แม่กระต่ายกินเข้าไปก็เป็นการคืนโปรทีนส่วนหนึ่งให้กับตัวเองด้วย
เรื่องเศร้าของกระต่ายพันธุ์แคระ
 

          เป็นเรื่องเกือบปกติที่กระต่ายในกลุ่มกระต่ายแคระ เช่น  Holland Lop (HL) และ Netherland Dwarf (ND) จะสูญเสียลูกครอกแรกทั้งหมดหรือบางส่วน โอกาสในการสูญเสียของคุณแม่ท้องสาว มีอัตรา ประมาณครึ่งต่อครึ่ง การออกลูกมาแล้วตาย(ทันที) ทั้งหมด อาจเกิดได้ติดต่อกัน 1-3 ครอก

          เรื่องนี้ ฝรั่งผู้เชี่ยงชาญการผสมพันธุ์กระต่ายให้เหตุผลว่า เนื่องจากกระดูกเชิงกรานของแม่กระต่ายยังไม่ขยายตัวเต็มที่ในการคลอดครั้งแรก ๆ เมื่อลูกกระต่าย (โดยเฉพาะลูกกระต่ายที่ตัวใหญ่) ต้องถูก “รีด” ผ่านช่องเล็ก ๆ ออกมา จึงมีโอกาสรอดยาก เมื่อผ่านการคลอดครั้งแรก หรือครั้งแรก ๆ ไปแล้ว โครงสร้างของร่างกายแม่กระต่ายจะปรับเปลี่ยน ทำให้ลูกครอกต่อ ๆ มามีโอกาสรอดมากขึ้น

ภาพ X-Ray ของเอมิลี่ (ซ้าย)และ ปราด้า (ขวา)

          มีแม่กระต่ายของเราอยู่ 2 ตัว ที่ให้ลูกครอกละ 4 ตัว .....แต่ตายทั้งหมด!

         ส่วนลูกที่คลอดออกมาแล้วไม่ตาย ก็อาจตายได้จากภาวะแวดล้อม เช่นหนาวเกินไป แม่ไม่เลี้ยง พิการ และ....เป็นกระต่าย ที่เรียกว่า Peanut

กระต่ายที่เป็น Peanut เป็นอย่างไร          
            Peanut ที่แปลว่าถั่ว(ลิสง) นี่ ฝรั่งเขาใช้เรียกลูกกระต่ายที่บกพร่องทางพันธุกรรม ซึ่งเกิดมาเพื่อรอวันตายเท่านั้น
          ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดกระต่าย ที่เป็น Peanut นั้น ขออธิบายดังนี้

          กระต่ายทุกตัวที่เกิดมา ย่อมได้ยีนส์แสดงลักษณะต่าง ๆ จากพ่อและแม่มาอย่างละ 1 ประมาณว่า พ่อและแม่กระต่าย จะทำการจับสลากเลือกยีนส์ของตัวเองมาเข้าคู่กัน ทั้งยีนส์ที่กำหนดสี กำหนดเพศ กำหนดโน่นกำหนดนี่ รวมถึงยีนส์คู่ที่จะพูดถึงนี่ คือ ยีนส์ที่กำหนดขนาดของลูก

          ในกระต่ายขนาดเล็กพวก HL-ND จะมียีนส์คู่หนึ่ง ที่กำหนดขนาดของร่างกาย เรียกว่า ยีนส์แคระ (Dwarf Gene) เขียนย่อ ๆ ในรหัสพันธุกรรมว่า  dw  ซึ่งหมายถึงว่า แคระ และ Dw ซึ่งหมายถึงว่า ไม่แคระ

          ถ้ายีนส์ที่ได้จากคุณพ่อ เป็นยีนส์ไม่แคระ (Dw) และคุณแม่ก็ให้ Dw มาอีกตัวหนึ่ง รวมกันเป็นลูกที่มียีนส์ Dw+Dw ลูกตัวนั้นจะไม่แคระ คือตัวใหญ่กว่ามาตรฐานอุ้มแล้วเต็มไม้เต็มมือดี แต่คงส่งประกวดไม่ได้เพราะน้ำหนักมักจะเกินกำหนด ซึ่งมาตรฐานที่ ทาง ARBA ยอมรับให้ลงทะเบียน (Register) และส่งประกวด (Show) ได้คือประมาณไม่เกิน 1.7-1.8 กิโลกรัม ครับ

          แต่ถ้าลูกตัวใด ได้รับยีนส์ที่ได้จากจากพ่อและแม่ เป็นยีนส์ไม่แคระ (Dw) ตัวหนึ่งกับยีนส์แคระ (dw) ตัวหนึ่ง มา จับคู่กันเป็น Dw+dw คือมียีนส์ไม่แคระ 1 ตัว มารวมกับยีนส์แคระ 1 ตัว ลูกที่ได้ก็จะเป็นกระต่าย ที่ตัวเล็กตามมาตรฐานสายพันธุ์

          เรื่องเศร้าก็คือ ถ้าลูกตัวไหน ได้ยีนส์แคระ (dw) ทั้งจากพ่อและแม่ มา 2 ตัวคือ คือเป็น dw+dw แทนที่จะได้กระต่ายจิ๋ว ก็กลับกลายเป็นกระต่ายพิการทางพันธุกรรม คือเป็น Peanut แบบนี้ไม่มีทางที่จะรอดเลย และโดยเฉลี่ยจะอยู่ดูโลกได้ไม่เกิน 7 วัน

สรุปก็คือ  ยีนส์ไม่แคระ+ยีนส์ไม่แคระ = กระต่ายใหญ่ (กว่ามาตรฐาน)
                ยีนส์ไม่แคระ + ยีนส์แคระ = กระต่ายเล็ก (ตรงตามมาตรฐาน)
                ยีนส์แคระ+ยีนส์แคระ = Peanut


Peanut นี่ เราเจอแล้วตัวหนึ่งครับ
          ลักษณะของกระต่ายที่เป็น Peanut คือเมื่อคลอดออกมา ตัวจะเล็กมากเมื่อเทียบกับพี่น้อง แบบว่าครึ่งต่อครึ่งเลย เห็นได้ชัดมาก หัว(กระโหลก)โต หูสั้น ขาเล็กและสั้นทั้งขาหน้าขาหลัง มองเผิน ๆ รูปร่างเหมือนฝักถั่วลิสง ชนิดที่มีเมล็ด 2 เมล็ด ไม่มีเรี่ยวแรง หนังเหี่ยว ไม่ค่อยกระดุกกระดิกเหมือนตัวอื่น ไม่ว่าจะช่วยป้อนนม กกให้อุ่นหรือดูแลสารพัดเพียงใดเขาก็ตายครับ เพราะเขาจะไม่มีการพัฒนาเนื้อเยื่อ (Tissue) ในร่างกายเลย เรื่องนี้ต้องทำใจ ไม่มีใครอยากพบเจอ แต่...มันเป็นธรรมชาติของเค้า เราก็ได้แต่เม้มปาก ถอนใจ ในขณะที่ขอบตาร้อน ๆ และบอกลา....


          การสูญเสียอีกแบบหนึ่ง คือการที่ลูกตายในท้อง เป็นเรื่องที่แม้แต่คุณหมอเองก็ไม่อยากเจอ เพราะต้องผ่าออก และแน่นอนว่า แม่กระต่ายตัวนั้นจะไม่สามารถมีลูกได้อีก

           เรายังไม่เคยเจอกรณีนี้ มีแต่เฉียด ๆ คือ กรณีของเอมิลี่ ซึ่งถึงกำหนดควรจะคลอดแล้วแต่ยังไม่คลอด เมื่อคุณหมอ เอ็กซ์เรย์ดูแล้ว พบว่ามีลูกในท้อง 4 ตัว คุณหมอถึงกับเปรยว่า อย่าตายในท้องนะ.... ว่าแล้วเอมิลี่ก็ต้องถูกโกนขนหน้าท้อง แล้วพาไปทำอัลตร้าซาวนด์

  
เอมิลี่ กำลังได้รับการตรวจภายในด้วย Ultrasound
ตรงที่คุณหมอชี้ในจอภาพ คือหัวใจของเด็กน้อยที่กำลังเต้น


          ภาพจากการทำอัลตร้าซาวนด์ ทั้งเราและคุณหมอดีใจกันมาก เพราะหัวใจน้อยๆ ทั้ง 4 ดวง เต้นรัว เห็นในจอชัดมาก คุณหมอถึงกับถอนหายใจดัง ๆ และบอกว่าสบายใจได้ ไม่มีตายในท้องแน่นอน กลับไปรอการคลอดได้เลย

          แต่คุณหมอคงยังไม่ทราบว่า ลูกทั้งสี่ของเอมิลี่ ถึงจะคลอดออกมามีรูปร่างปกติ แต่การที่โครงร่างของแม่กระต่ายในท้องแรก ๆ ยังไม่ปรับตัว ลูกที่คลอดออกมาก็...ไม่รอด หนูน้อยทั้งสี่..กลับไปดวงจันทร์แล้ว.....
นี่ก็เป็นอีกเศร้าอีกเรื่องหนึ่ง ที่เราขอเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังอย่างไม่ปิดบัง ใครก็ตามที่ต้องเผชิญกับเรื่องแบบนี้ จะได้ทำใจได้ครับ


          เด็ก ๆ ชุดแรกจาก 6 แม่ จำนวนรวม 20 ตัว จากพรากไป 12 รอดมา 8 .... สิ่งเดียวที่เราทำได้ คือเก็บความปวดแปลบไว้ลึกๆ ในใจ  แล้วหันมาชื่นชมและชื่นใจกับอีก 8 ชีวิตที่แสนจะน่ารัก และจะทุ่มเทความเอาใจใส่เลี้ยงดูเขาให้มีความสุขที่สุดเท่าที่จะทำได้

           อยากบอกพวกเราทุกคนว่า สิ่งที่มีชีวิตที่น่ารักที่สุดในโลก คือลูกกระต่ายน้อยๆ ที่วิ่งหยอยๆ อยู่ตรงหน้า

ขออภัยที่เพ้อเจ้อ.....มาคุยกันต่อครับ


ความบกพร่องของเรา ก็อาจทำให้ลูกกระต่ายตายได้
 

          กรณีที่คลอดออกมารอดเป็นปกติดี แต่....ตายเพราะความสะเพร่าของเราและแม่กระต่ายก็มีครับ...จะเล่าให้ฟังอย่างไม่อาย

          คาร์เทีย คลอดลูกออกมา 4 ตัว ตัวหนึ่งตายทันที ตัวหนึ่งเป็นพีนัท ซึ่งอีก 5 วันต่อมาหนูน้อยก็จากเราไป

          จากที่เล่ามา น่าจะรอด 2ตัว จริงไหมครับ แต่....ตอนที่เขายังอยู่กัน 3 ตัว เราเห็นเขาซุกรวมกันใต้หญ้าแห้งและขนของแม่กระต่าย เพราะลูกกระต่ายต้องซุกกันเพื่อแบ่งปันไออุ่นให้กันและกัน และเมื่อแม่เข้ามาให้นม ก็จะยืนให้นม ณ จุดที่ลูกรวมตัวกัน


          มีตัวหนึ่งที่แตกลุ่มออกไป โดยที่เราไม่ทันสังเกตุ (ใน2-3 วันแรก เราจะไม่เข้าไปยุ่งกับลูกกระต่ายมากนัก เพื่อไม่ให้แม่กระต่ายเครียด)

          กว่าจะรู้ หนูน้อยตัวที่แตกกลุ่มออกไปก็นอนท้องแฟบตัวเย็นชืดอยู๋อีกฟากหนึ่งของรังคลอดเสียแล้ว......
          สุดท้าย จากที่คลอดออกมา 4 ตัว คาร์เทียซึ่งเป็นสี Broken Lynx ก็เหลือลูกอยู่ตัวเดียว เป็น Broken Blue (คงได้จากพ่อที่สี Blue) อ้วนเป็นอึ่งอ่างพองลม น่ารักสุด ๆ เหมือนจะช่วยชดเชยความเสียใจจากการสูญเสียทั้งหมดนั้นให้กับเรา

ลูกตัวเดียวที่รอดมาของ คาร์เทีย....อ้วนกลมพุงป่อง

 
            ริชชี่ ได้ลูก 3 ตัว ตัวหนึ่งคลอดออกมาก็ตาย เหลือ 2 ตัว สีส้ม กับอีกตัว....น่าจะจะเป็น  เซเบิ้ล พอยท์ ทั้งคู่แข็งแรงมาก
          ที่คลอดท้องแรกแล้วรอดเป็นปกติทุกตัว คือ เอสเต้ได้ลูกตัวโตพอประมาณ 2 ตัว สี Blue ทั้งคู่ รอดและแข็งแรงดีทั้งหมดตัวกลม หน้าบานสั้นมู่ทู่ ได้ใจเลย  แค่ 2 อาทิตย์ก็ปีนออกมาจากรังคลอดได้แล้ว พออายุได้ 20 วันก็วิ่งให้พล่าน ซนยังกะลูกลิงลูกค่าง 


การดูแลคุณแม่หลังคลอด
 

          กระต่ายหลังคลอด จะมีความสับสน ตื่นเต้น งุนงง กับประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต ผนวกกับสัญชาติญาณแห่งการเป็นแม่ ที่จะต้องพิทักษ์ปกป้องลูกน้อยของตน แม่กระต่ายจึงดูเครียด ๆ และหวงกรงหวงรัง อาจมีการกัดขนเพิ่ม เพื่อปกป้องลูกน้อยจากอากาศที่หนาวเย็น

          ในธรรมชาติ กระต่ายจะซ่อนลูกไว้ในโพรงดิน ส่วนตัวเองก็ออกหากิน กระต่ายจึงไม่ใช่สัตว์ที่จะมา กก ลูกหรือเฝ้าคลอเคลียอยู่กับลูกเหมือนหมาเหมือนแมว ซึ่งมีเขี้ยวมีเล็บ พอจะคุ้มภัยให้ลูกได้ และลูกกระต่ายบ้าน ก็อ่อนแอ เมื่อเกิดมาก็ยังไม่มีขน มีแต่หนังบาง ๆ ตาก็ปิดสนิท
 
           แม่กระต่ายจะเข้าไปให้นมลูกในช่วงแรกเพียงวันละ 2 ครั้ง คือเช้ามืดกับหัวค่ำ โดยกระโดดเข้าไปในรังคลอด แล้วคร่อมตัวลูก และนิ่งอยู่ในลักษณะหมอบ ลูกจะตะกายเข้าไปใต้ท้องแม่และ....นอนหงายดูดนมแม่ (ผมแอบดูตอนที่ลูกกระต่ายอายุได้ 7-8 วัน) ช่วงเวลาในการให้นมครั้งหนึ่ง ประมาณ 1-2 นาทีเท่านั้นเอง เสร็จแล้ว แม่ก็จะกระโดดออกจากรังคลอด อีนังลูกที่กินนมเสร็จก็นอนหงายท้องพุงป่องอยู่ในรัง น่ารักสุด ๆ จะบอกให้
พอลูกอิ่มดี ก็จะกระดืบ ๆ เข้าหากัน ซุกกันใต้หญ้าแห้งที่มีขนของแม่คลุมอยู่ แล้วหลับปุ๋ย รอกินนมรอบต่อไป

ลูกของริชชี่ ที่เพิ่งกินนมแม่อิ่ม ก็เลยนอนค้างอยู่ท่าเดิมตอนกินนม คือหงายท้อง สบายแฮ
รูปนี้ถ่ายได้ทันเวลาพอดี คือแม่ริชชี่เพิ่งกระโดดออกจากรังคลอด


          ใครที่เคยเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว ขอความกรุณาอย่าเอาความรู้สึกมาปนกัน กระต่ายคือกระต่าย หลายคนกลัวลูกกระต่ายจะตายเพราะนังคุณแม่เธอไม่ยอมดูแล เอาแต่นอนพังพาบอยู่ริมกรง ไม่เห็นจะห่วงใยลูกเลย จะเหลียวไปมองลูกสักนิดก็ไม่มี..... โปรดรับทราบว่า ธรรมชาติของเขาเป็นแบบนั้น อย่าไปเจ้ากี้เจ้าการ อุ้มแม่ใส่รังคลอด เพื่อให้ลูกได้กินนมหลาย ๆ รอบ.... แบบนี้แม่กระต่ายจะเครียด และ...ถ้าแม่กระต่ายประเมินสถานการณ์ว่าเกิดความไม่ปลอดภัย แม่กระต่ายอาจกินลูกหรือทิ้งรังก็เป็นได้


การแอบเข้าไปสังเกตลูกกระต่ายในรังคลอด
 

          การแอบดูลูกระต่ายเป็นครั้งคราวนั้น เป้นเรื่องที่จำเป็นเหมือนกันครับ เพื่อดูว่าลูก ๆ อยู่รวมกันหรือเปล่า อ้วนท้วนสมบูรณ์ดีเท่ากันทุกตัวไหม มีอะไรเป็นที่ผิดสังเกตหรือเปล่า

          ผมใช้วิธีแบบนี้ครับ คือค่อย ๆ เปิดกรง ฮัมเพลง ที่(คิดเอาเองว่า)กระต่ายชอบ เอาสับปะรดอบแห้งเข้าไปติดสินบนนังคุณแม่ พอคุณเธอมัวแต่ตะกรามกินสับปะรดของโปรด ผมก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะลูบเนื้อลูบตัวเธอ ไปมา ซึ่งก็ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ปลอบไม่ให้เธอตระหนกกับการบุกรุกของผมประการหนึ่ง และเพื่อให้มือของผมมีกลิ่นของเธอติดอยู่เป็นประการที่สอง(ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก)

          เมื่อมือของผมหอมหึ่งไปด้วยกลิ่นกายของเธอดีแล้ว ผมก็จะใช้มือข้างนั้นซุกเข้าไปในรังคลอด คลำดูว่าเจ้าตัวจิ๋ว ๆ ทั้งหลายนั้น อยู่รวมตัวกันดีหรือไม่ อุณหภูมิทุกตัวอุ่นดีไหม เลิกหญ้าและขนที่คลุมอยู่เพื่อดูตัวนิดหนึ่งว่าพุงป่องเป็นปกติเท่าเทียมกันหรือเปล่า

          คุณเชื่อไหมครับ ลูกกระต่ายอายุ 4-5 วันที่แข็งแรงสมบูรณ์ดีนี่ พอเอามือที่มีกลิ่นแม่แหย่เข้าไป ก็จะตั้งวงคอรัส ประสานเสียงร้องได้ดังชะมัดเลย ประมาณว่า อี๊ๆๆๆ แอ๊ๆๆๆ อะไรแบบนี้ แล้วก็พล่านกันใหญ่ คงนึกว่าแม่เข้ามาให้นม

          กระบวนการแอบดูลูกกระต่าย ทั้งหมดนี้ รวมแล้วอย่าให้เกินครึ่งนาทีเป็นดีที่สุด มิฉะนั้นคุณแม่เธออาจจะงับเอาได้ และทำเพียงวันละครั้งตอนสาย ๆ ก็เหมาะดีเพราะมั่นใจได้ว่า คุณแม่ น่าจะให้นมลูกเรียบร้อยแล้ว ถ้าเราไปยุ่งมาก ๆ แม่กระต่ายจะเครียด พาลทิ้งลูกเอาก็ได้    
         พ้นจาก 1 สัปดาห์ไปแล้ว แม่กระต่ายจะหวงลูกน้อยลง และยอมให้เราเข้าไปแอบดูได้ง่ายขึ้นครับ


อาหารแม่กระต่าย
           ช่วงท้องและหลังคลอด แม่กระต่ายจะกินจุมาก การให้อาหารก็ให้อาหารตามปกติ แต่มากขึ้น คืออย่าให้ขาดถ้วย ที่ Bunny Delight  เราเสริมด้วยผัก เน้นที่คึ่นช่าย คะน้า และข้าวโพดดิบแกะเมล็ด  

          หญ้าแห้งที่ให้ ช่วงเช้าเป็น Alfalfa เย็นเป็น หญ้าแห้งชนิดอื่น ๆ สลับกันไป อาจเติม Alfalfa ในตอนเย็นอีกหน่อยด้วย
อาหารของแม่ ก็คืออาหารของลูก ดังนั้น.......
 

          เมื่อเราให้อาหารแม่กระต่ายอยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ จนลูก ๆ เธอเริ่มซนและทำท่าจะปีนออกนอกรังคลอด ก็ต้องทำการปรับแผนกันหน่อย

          คืออย่างนี้ครับ ลูกกระต่ายนี่ก็คือกระต่าย....เอ้อ...ผมหมายความว่า ลูกกระต่ายนั้นมีนิสัยประจำของกระต่ายคือเป็นนักสำรวจ อยากรู้อยากเห็น และแทะทุกอย่างที่ขวางหน้า เมื่อบรรดาจอมซนออกมาจากรังคลอดได้ ก็จะงับโน่นแทะนี่ไปเรื่อยๆ ตอนแรก ๆ ก็แค่งับ ๆ  ผมดูจากใบหญ้าขนที่เจ้าพวกนี้แทะเล่นมีแค่รอยขบช้ำ ๆ คือมีฟันแล้วแต่ยังไม่ยาวพอจะกัดอะไรให้ขาดได้ พออายุได้ประมาณ 20 วันนี้ ได้เรื่องละครับ ขนาดหญ้าแห้งยังกัดได้เลย

แม่กินอะไร หนูก็จะแย่งแม่กิน อะหุอะหุ

ดังนั้น....สำหรับบางคน....อาหารของแม่กระต่ายก็ควรปรับใหม่

เรื่องนี้ต้องอ่านที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ให้ละเอียดหน่อย มิฉะนั้นจะเข้าใจกันผิดได้

           ในธรรมชาติ ลูกกระต่ายก่อนหย่านมก็เริ่มกินหญ้าสดในท้องทุ่งแล้ว เพราะมันไม่มีอาหารเม็ดจะกิน แต่กระต่ายบ้าน ลูกกระต่ายที่ออกจากรังคลอด จะกินทุกอย่างที่แม่กิน  หรือทุกอย่างที่อยู่ในกรงแม่นั่นเอง ดังนั้นถ้าอาหารอะไรของแม่กระต่ายที่คุณเกรงว่าน่าจะเป็นอันตรายกับลูกกระต่าย คุณก็ต้องหยุด
          สำหรับเราที่ Bunny Delight หญ้าขนสด และผัก เราเลือกและล้างจนมั่นใจว่าไร้สารตกค้าง ดังนั้น เราจึงไม่ปรับเปลี่ยนอาหารของแม่กระต่ายมากนัก หญ้าขนและผักก็ให้เป็นปกติ  เพียงแต่ลดผักที่มีปริมาณน้ำมาก ๆ อย่างผักกาดขาวลง อาหารเม็ดจากเดิม ที่เป็น  Cuni Nature ผสมกับ Kaytee Supreme ก็เปลี่ยนเป็น  Cuni Nature ผสมกับ  Cuni Junior เพื่อฝึกให้ลูกกระต่ายคุ้นเคยกับอาหารที่เขาจะได้รับในเมื่อถึงเวลาตองแยกกรง ส่วนหญ้าแห้งเคยให้อย่างไรก็ให้อย่างนั้น
          ขอเสริมอีกนิดว่า ลูกกระต่ายนั้น ถูกออกแบบมาให้กินกินหญ้าและผัก (ที่กระต่ายควรกิน) มิใช่อาหารเม็ด ได้แต่ต้องมั่นใจว่าสะอาด ที่เขาห้าม ๆ กันเพราะเกรงว่าลูกกระต่ายจะได้รับสารพิษ และกระต่ายจะพัฒนาระบบการกรองสารพิษที่จะเข้าสู่สมองได้สมบูรณ์เมื่ออายุ 3 เดือนขึ้นไป อย่างของเรา เรามั่นใจว่าสะอาด ก็ให้ได้ ใครจะทำตามหรือไม่อย่างไร ก็ใขอให้ท่านทั้งหลายใช้วิจารณญาณไตร่ตรองเอาเองเถิด


หัดให้ลูกกระต่ายกินน้ำจากขวด

          ในช่วงลูกกระต่ายออกจากรัง ก็เริ่มเอาขวดน้ำขนาดเล็กสำหรับลูกกระต่าย มาติดที่กรงให้อยูใต้หรืออยู่ใกล้กับขวดน้ำแม่กระต่าย ให้ระดับของปลายท่ออยู่ที่ระดับปากของลูกกระต่าย เวลาแม่กระต่ายกินน้ำ น้ำบางส่วนจะหยดลงมาที่พื้น ลูกกระต่ายก็จะรู้ว่าแถวนั้นมีน้ำ และเมื่อเห็นมีท่ออะไรยื่น ๆ มาในระดับปากของตัวก็จะเข้าไปงับๆ ตามประสาซน งับไปงับมา เอ๊ะ....มีน้ำออกมาด้วยวุ๊ย...สนุกละสิ ....การเรียนรู้วิธีการกินน้ำจากขวดก็เกิดขึ้นเอง ด้วยประการฉะนี้


          ที่แนะนำ ขวดน้ำขนาดเล็ก เพราะจะมีปริมาณน้ำน้อย น้ำหนักของน้ำในขวดจะไม่มาก แรงดันของน้ำที่ลูกปืนกลม ๆ ปลายท่อ ก็นิดเดียวลูกกระต่ายตัวน้อย ๆ ก็ใช้ลิ้นดุนกินน้ำได้ง่าย
         

         


การติดตั้งขวดน้ำเล็กสำหรับฝึกให้ลูกกระต่ายหัดกินน้ำจากขวด


การแยกลูกกระต่ายจากอกแม่
          เมื่อลูกกระต่ายกินอาหารเม็ดเป็น และฟันขบฟันเคี้ยวแข็งแรงดี ประมาณอายุได้ 1 เดือนครึ่ง แม่กระต่ายก็ไม่อยากให้นมลูกแล้วเพราะเจ็บหัวนม การหย่านมโดยธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นเอง ช่วงนี้ การแยกอาหารเม็ดสำหรับลูกกระต่ายออกมาอีกถ้วยหนึ่งก็ควรทำ ลูกกินบ้างแม่กินบ้าง ไม่ว่ากัน

          ลูกกระต่ายที่ได้อยู่ในกรงร่วมกับแม่ จนถึงอายุ 2 เดือน น่าจะเป็นกระต่ายที่มีสุขภาพจิตดี ใครที่คิดจะแจกหรือจะขายก็ควรแยกเด็ก ๆ ออกมาใส่กรงต่างหาก โดยเอาหญ้าและขนของแม่ในรังคลอด มาเกลี่ยๆ ไว้ที่พื้นกรงใหม่ ให้เขาคุ้นเคยกับกลิ่นเดิม อย่าลืมเอาถ้วยอาหารและขวดน้ำประจำตัวของเขามาใส่กรงใหม่ให้ด้วย สัปดาห์แรก ให้อยู่รวมกันในหมู่พี่น้อง ถัดจากนั้นก็แยกเดี่ยว เพื่อให้เขาคุ้นเคยกับการอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยลำพัง ก่อนการส่งมอบให้กับผู้ที่จะรับไปดูแลต่อ และหากในช่วงที่แยกกรงออกมานั้น ตอนเช้าตอนเย็นเด็ก  ๆ ได้มีโอกาสวิ่งเล่นในสนามแล้วพบปะกับแม่ของตัวในสนามบ้าง ก็น่าจะทำให้เด็กน้อยเหล่านี้ไม่รู้สึกอ้างว้างจนเกินไปและปรับตัวได้ดีมากขึ้น


จะผสมแม่กระต่ายอีกครั้งเมื่อไหร่ดี
          ความจริงตามธรรมชาติ แม่กระต่าย จะยอมรับการผสม ตั้งแต่คลอดลูกได้ไม่กี่วัน (ใครที่เลี้ยงตัวผู้-ตัวเมีย รวมกัน ขอให้ระวังให้ดี) แต่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม่กระต่ายจะโทรมจัด เพราะต้องให้นมลูกครอกเก่าไปในขณะที่ลูกครอกใหม่ก็เติบโตอยู่ในท้องอีกครอกหนึ่ง ดังนั้น ใครที่เลี้ยงกระต่ายรวม ๆ กัน เมื่อแม่กระต่ายคลอด ควรแยกตัวผู้ออกไปให้ห่าง ๆ เข้าไว้ อย่าได้เอามาเจอกันเลย


          หลังจากหย่านม และแยกลูกออกไปจากกรงแม่แล้ว แม่กระต่ายควรได้รับการบำรุงด้วยอาหารดีๆ แบบเดียวกับช่วงที่ให้นมลูก เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แข็งแรง ประมาณ 1 เดือน จึงค่อยหาช่วง ที่แม่กระต่าย Heat แล้วจึงผสม
          วงรอบแบบนี้ คือตั้งท้อง 1 เดือน ให้นมและดูแลลูก 2 เดือน พักฟื้นและบำรุง 1 เดือน รวม 4 เดือน เป็น 1 วงรอบ แม่กระต่ายจะสามารถให้ลูกที่มีคุณภาพได้ 3 ครอกต่อปี และแม่กระต่ายก็ไม่เหนื่อยเลยครับ

มีกรณีใด ที่เราต้องช่วยเลี้ยงลูกให้แม่กระต่าย
 

          กรณีแรกคือ แม่กระต่ายไม่ยอมเลี้ยงลูก ซึ่งอาจเกิดจากเลี้ยงลูกไม่เป็น คือไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรกับลูก คลอดออกมาแล้ว ก็ไม่เข้าไปหาลูกอีกเลย

          หากไม่ได้รับนมในปริมาณที่พอเพียง ลูกกระต่าย จะมีชีวิตอยู่ได้ 12-15 ชั่วโมง ถ้า เราพบว่าลูกกระต่าย ตัวเหี่ยว ท้องแฟบ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนครับว่าแม่ไม่ให้นม ลองจับแม่กระต่ายมานอนหงายท้อง (อาจต้องมีการบังคับ) แล้วจับลูกมาวางประคองลูกไว้ไม่ให้ตกจากท้องแม่และให้ปากอยู่ที่หัวนม ลูกจะดูดนมแม่ทันที

          ทำแบบนี้ทีละตัว (แต่แม่กระต่ายอาจดิ้นแรงมาก) จนลูกได้นมพอสมควร คือท้องหายแฟบ ก็เอาลูกคืนรังคลอด 10-12 ชั่วโมงต่อมาก็แอบดูซิว่าลูกท้องแฟบอีกหรือเปล่า ถ้าแฟบมาก ก็ต้องขืนใจกันอีก 2-3 รอบ


           เมื่อลูกกระต่ายดูดนมแม่ 2-3 ครั้ง ร่างกายของแม่ก็จะผลิตนมออกมามากขึ้น อาการอยากให้นมลูกก็จะเกิดเอง


          แต่ถ้าลูกดูดแล้วไม่มีนม หรือนมมีน้อยไม่พอกิน หรือแม่กระต่ายดิ้นจนบังคับไม่ได้ เราก็ต้องป้อนนมเสริม



          อีกกรณีหนึ่งคือ แม่กระต่ายให้ลูกหลายตัว และอาจมี 1-2 ตัว ที่แย่งนมกับตัวอื่น ๆ ไม่ทัน ตัวที่ได้นมมากก็โตเร็ว แข็งแรง ยิ่งแข็งแรงก็ยิ่งแย่งนมเก่ง ไอ้ตัวที่ไม่ได้นมก็ยิ่งหมดแรง สู้เขาไม่ไหวผอมเอาๆ แบบนี้ก็ต้องแยกเอามาฝากแม่ตัวอื่นที่คลอดห่างกันไม่กิน 2-3 วัน โดยจับแม่บุญธรรมหงายท้อง เอามือบังตาแล้ว เอาลูกฝาก ไปถู ๆ แถวคางและขาหนีบแม่บุญธรรม จากนั้นก็เอาลูกฝากไปไว้ในรังคลอดให้ซุกรวมกับตัวอื่น แต่ถ้าหาแม่บุญธรรมไม่ได้ เราเองก็ต้องทำการแทน



วิธีการป้อนนมลูกกระต่าย


รูปที่ลงให้ดูนี้ เป็นรูปที่ถ่ายตอนป้อนนมให้หนูน้อยที่เป็น Peanut            


          นมที่ใช้ ใช้ตามที่คุณหมอแนะนำคือ นมสำหรับลูกหมา ที่ชื่อ ESbilac  หรือนมสำหรับลูกแมว ชื่อ KMR ตวงมา1 ช้อนปาด ผสมกับน้ำอุ่นจัด 2 ถ้วย (ทั้งช้อนและถ้วยได้รับมาพร้อมนมผงแบบกระป๋อง) คนให้เข้ากัน ในถ้วยแก้วเล็ก ๆ และหล่อถ้วยนมที่ผสมแล้วนี้ไว้ในถ้วยน้ำอุ่นเพื่อรักษาอุณหภูมินม มิให้เย็นเร็วเกินไป

ภาพแสดงวิธีการหล่อถ้วยนมในถ้วยน้ำอุ่น

          นมทั้ง 2 ยี่ห้อนี้ดีมาก แต่แพงเอาเรื่อง กระป๋องหนึ่งใกล้พันบาท ซึ่งเหมาะกับลูกหมาที่กินจุมาก ลูกกระต่ายนี่กินวันละนิดเดียว ถ้าเปิดกระป๋องแล้วเหลือเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไป (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเจอสถานการณ์แบบนี้อีกเมื่อไหร่) ทำให้อาจไม่สบายใจเพราะเกรงว่าจะไม่สดเท่าที่ควร ดังนั้นควรหา แบบซอง ซึ่งราคาแค่ร้อยกว่าบาท มาใช้ได้ จะดีกว่าทั้งความสดและความประหยัด เพราะซองหนึ่งใช้กับลูกกระต่ายได้หลายวัน ถึงจะเหลือบ้างก็ไม่มากครับ  หากเป็นรุ่นกระป๋องแบบน้ำซึ่งพร้อมที่จะป้อนเลย  เมื่อเปิดกระเป๋าแล้วต้องแช่เย็น และมีอายุอยู่ได้ 72 ชม.

          การป้อน ก็ใช้หลอด Dropper ชนิดที่ปลายเล็ก ๆ ดูดนมจากถ้วยขึ้นมา เอาไปจ่อปากป้อนโดยบีบลูกยางช้า ๆ ระวังอย่าบีบเร็ว ลูกกระต่ายอาจสำลัก

ในช่วง 1 -3 วันแรก ให้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 mL
5-8 วัน ให้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1.5-2. mL
8-12 วัน ให้วันละ 3 ครั้ง ปริมาณตามที่เขาพอจะกินได้
ทั้งหลายทั้งปวง อย่าเคร่งกับตัวเลขนัก เอาเป็นว่า ดูจากลูกกระต่ายเป็นเกณฑ์จะดีกว่า


          นมที่ให้นี้ แม้จะมีคุณค่าทางอาหารที่มากพอ แต่สิ่งที่ขาดไปคือจุลชีพจำเป็น ที่กระต่ายทุกตัวต้องมีในระบบย่อยอาหาร จุลชีพวิเศษเหล่านี้ มีมากมายในอึพวงองุ่น ดังนั้นในการผสมนม ควรเอาอึพวงองุ่นจากกระต่ายโต  มาผสมด้วย(ถ้าได้ของแม่กระต่ายก็จะดีมาก) โดยเขี่ยมา 1 เม็ดเล็ก ๆ บี้ผสมลงไปในนม ให้วันละครั้งก็พอ และทำติดต่ออย่างน้อยที่สุด 5 วัน

          ไม่เอาน่า อย่าทำหน้าเบ้แล้วคิดว่าอีตาบ้านี่ จะยุให้ช้านเอาขี้กระต่ายมาให้ลูกกระต่ายกิน อึพวงองุ่นนี่เป็นของดีนะจะบอกให้ หากยังไม่รู้จักก็ไปหาอ่านในบทความชุดก่อน ๆ ของผมดูเอาเถิด จะเข้าใจดีขึ้นขอรับ


          หลังจากอิ่มหนำกันแล้ว  ก็อย่าลืมเอาสำลีชุบน้ำอุ่นๆเช็ดตรงก้นและจุ๊ดจู๋หรือจุ๋มจิ๋ม ของเจ้าตัวเล็กด้วย  เป็นการกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายแทนการเลียที่แม่กระต่ายควรจะทำให้

ขอขอบคุณ www.bunnydelight.com

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วงจรชีวิตกระต่าย


กระต่ายมีอายุเฉลี่ยประมาณ 3-5 ปี มากน้อยแล้วแต่ความแข็งแรงและสุขภาพของกระต่ายในแต่ละตัว วงจรชีวิตของกระต่ายที่มีอายุสั้นจะอยู่ในกระต่ายกลุ่มแคระ เช่น สายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ ดวอร์ฟ, โปลิช, ฮอลแลนด์ ลอป, อเมริกัน ฟัซซี่ ลอป,วูดดี้ ทอย เป็นต้น ส่วนกลุ่มสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่เช่น เฟลมิช ไจแอนท์, เชคเกอร์ ไจแอนท์ นิวซีแลนด์ ไวท์ จะมีช่วงอายุที่ยืนยาวกว่าบางตัวอาจจะมีอายุถึง 15 ปีเลยทีเดียว

ตั้งแต่ลูกกระต่ายพ้นท้องแม่ออกมาเป็นตัวแดง ๆ จะต้องกินนมแม่อย่างต่อเนื่อง แม่กระต่ายจะเลี้ยงลูกโดยการให้นมลูกกระต่าย ในสองช่วงเวลา คือ 1. เช้าตรู่ ตี 4 – 5 (ตามทฤษฏี) 2. พลบค่ำ 18.00 – 20.00 น. ลูกกระต่ายที่ได้รับนมครบทุกครั้ง ลักษณะลำตัวจะเต่ง อ้วน แต่ถ้าตัวได้รับนมไม่ครบหรือไม่ค่อยได้กินนม ตัวของลูกกระต่ายจะเหี่ยวแห้ง อย่างสังเกตได้ชัด และเมื่อผ่านไป 2-5 วัน ลูกกระต่ายจะเริ่มมีไรขึ้นขึ้นคลุมผิวหนังแดง ๆ จวบจนกระทั่ง 10 วัน ลูกกระต่ายจะค่อย ๆ เริ่มลืมตา (ช้าเร็วอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยในบางตัวของครอกนั้น ๆ ) เมื่อพ้นสิบวันไป ลูกกระต่ายอาจจะไม่ค่อยสนใจกินนมแม่กระต่าย ให้ผู้เลี้ยงนำยอดหญ้าขนมาโปรย ๆ ไว้เพื่อให้ลูกกระต่ายได้แทะกิน และเมื่อพ้นสามสัปดาห์ขึ้นไป เริ่มเพิ่มอาหารเม็ดสำหรับกระต่ายให้ลูกกระต่ายได้กิน แม่กระต่ายจะเลี้ยงลูกไปจนถึงลูกกระต่ายมีอายุประมาณเดือนครึ่ง และพ้นสองเดือนไปแล้วสามารถแยกลูกกระต่ายออกจากแม่กระต่ายและสามารถนำไปจำหน่ายได้ หรือ เลี้ยงแยกได้ เมื่อกระต่ายเริ่มอายุ 3 เดือน จะเริ่มทำการประกาศถิ่น หรือ แสดงความเป็นเจ้าของถิ่น (ช้าเร็วหรือว่าไม่เป็นขึ้นอยู่กับนิสัยของกระต่ายในแต่ละตัว) เมื่อเข้าสู่อายุ 3 – 4 เดือนการประกาศถิ่นจะเริ่มขึ้นโดยการที่กระต่ายจะเริ่มสำรวจบริเวณที่อยู่ และใช้คางถูไถบริเวณนั้น ๆ เพื่อให้ต่อมกลิ่นที่อยู่ใต้คาง ติดบริเวณ สิ่งของนั้น ๆ การสร้างอิทธิพล หรือความเหนือกว่า กระต่ายตัวอื่น ส่วนมากจะเป็นในกระต่ายตัวผู้ เนื่องจากโดยความเป็นอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติแล้ว ตัวผู้จะมีลักษณะของการเป็นจ่าฝูง ดังนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งการเป็นจ่าฝูงถ้าในตัวผู้ด้วยกัน อาจจะต้องมีการต่อสู้หรือการทำอะไรก็ได้ให้อีกตัวยอม ส่วนในตัวแม่บางตัวก็อาจจะมีอาการของการหวงถิ่นเช่นกัน (ทุกกรณีขึ้นอยู่กับนิสัยของกระต่ายเป็นองค์ประกอบด้วย) วัย 3 – 4 เดือนนี้ ในตัวผู้เริ่มจะมีอาการเป็นสัด (Heat) ไล่ผสมพันธุ์บ้างแล้ว แต่สำหรับตัวเมียจะเริ่มกันที่อายุ ประมาณ 4 เดือนขึ้นไป แต่หากผสมติดในช่วงหนุ่มสาวนี้ ลูกกระต่ายอาจจะไม่ค่อยมีคุณภาพ เมื่อเทียบกับถึงวัยเจริญพันธุ์เต็มที่ตั้งแต่ 6- 8 เดือนขึ้นไป เมื่อผสมพันธุ์ติดแม่กระต่ายจะใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 30 – 34 วัน(บวกลบ) หรือประมาณ 1 เดือน ช่วงตั้งท้อง ในกรณีที่เลี้ยงตัวผู้กับตัวเมียรวมกันให้แยกตัวผู้ออกจากตัวเมีย เพื่อป้องการการสร้างความเครียดให้กับกระต่ายตัวเมียในขณะตั้งท้อง เพราะช่วงกระต่ายตั้งท้องจะมีความเครียด ต้องการพักผ่อน และกินอาหารเยอะ ตลอดจนน้ำดื่มที่สะอาด เพราะต้องใช้อาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ในการสร้างตัวอ่อนเติบโตแข็งแรง ดังนั้นอาหารในช่วงนี้จึงควรเน้นอาหารที่มีประโยชน์ให้แม่กระต่ายกิน เช่นอาหารเม็ดบางชนิดที่มีโปรตีน แคลเซียมสูง เพื่อเสริมสร้างกระดูก และหญ้าขนซึ่งมีประโยชน์มาก ๆ เมื่อใกล้เวลาคลอด 1 -2 วัน แม่กระต่ายจะเริ่มหาวัสดุ เช่น หญ้าแห้ง กิ่งไม้ใบไม้ ขัดกันเป็นรังเพื่อรอรับลูกกระต่ายที่เกิดมา และก่อนหน้าที่ลูกกระต่ายจะเกิดแม่กระต่ายจะเริ่มถอนขนตัวเองเพื่อทำเป็นรังรองรับลูกกระต่ายอีกชั้นหนึ่ง และในเวลาเช้าตรู่โดยส่วนมากแม่กระต่ายจะคลอดลูกออกมา ในช่วงนี้ ให้เตรียมน้ำดื่มและอาหารให้มากเพียงพอ เพราะแม่กระต่ายจะเหนื่อยและเสียพลังงานไปมาก เราอาจจะช่วยแม่กระต่าย โดยการสำรวจว่าลูกกระต่ายแต่ละตัว มีลักษณะที่สมบูรณ์แข็งแรงดีทุกตัวหรือไม่ แต่ไม่ควรไปวุ่นวายกับแม่กระต่ายมาก และต้องมั่นใจว่าในบริเวณที่เป็นรังคลอดของแม่กระต่ายปราศจากศัตรูรบกวนลูก – แม่กระต่าย เพื่อความสบายใจของแม่กระต่ายที่จะเลี้ยงลูก หากสถานที่แลดูไม่ปลอดภัย อาจจะทำให้แม่กระต่ายอยู่ในภาวะเครียด อาจจะกินลูกตัวเอง เพื่อป้องกันศัตรูหรือภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่วงจรการเลี้ยงลูก ตั้งแต่ที่เกริ่นไว้ข้างต้น (ในช่วงที่แม่กระต่ายพึ่งคลอดเสร็จ ถ้าบางบ้านไม่ได้แยกตัวผู้ออกจากแม่กระต่าย ให้พึ่งระวัง ในการผสมพันธุ์ต่อทันทีหลังจากที่แม่กระต่ายคลอดลูกออกมา เพราะตัวผู้จะไปกวน และตัวเมียที่พึ่งคลอดเสร็จใหม่ ๆ จะมีภาวะหรืออาการเป็นสัด(Heat) สูงหากมีการผสมพันธุ์ต่อเนื่องทันที แม่กระต่ายจะติดลูกจากการผสมในครั้งนี้ทันที แต่ปัญหาที่จะติดตามมาในภายหลังคือ แม่กระต่าย จะเริ่มมีสุขภาพที่แย่ลงและมีอายุที่สั้น หรือคลอดลูกออกมาแล้วทำให้แม่ตายในทันที หรือคลอดลูกออกมาแล้วเลี้ยงลูกไปสักพักแล้วก็ตายไปเฉย ๆ ทำให้ลูกกำพร้าแม่ได้ และคุณภาพของลูกก็จะไม่ดีเท่าที่ควร เพราะแม่กระต่ายจะต้องเลี้ยงลูกที่พึ่งคลอดออกมา และยังต้องเสริมสร้างพลังงานสารอาหารในการเลี้ยงตัวอ่อนในท้องอีกด้วย...